ไม่พบผลการค้นหา
เปิดใจ 'เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล' ประธานสภานิสิตจุฬาฯ ผู้ได้รับเชิญเป็นตัวแทนจากประเทศไทย ขึ้นปาฐกถางาน 'Oslo Freedom Forum ' ประจำปี 2018 เวทีรวมตัวนักสิทธิมนุษยชนระดับโลก ซึ่งจะจัดขึ้นปลายเดือน พ.ค. นี้ที่นอร์เวย์

หลัง เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ และประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างความฮือฮาด้วยการเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Netiwit Chotiphatphaisal ระบุว่าได้รับจดหมายจากมูลนิธิ Human Rights Foundation เชิญให้เป็นหนึ่งในองค์ปาฐกงาน Oslo Freedom Forum ประจำปี 2018 ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งถือเป็นงานรวมตัวของนักสิทธิมนุษยชนระดับโลก และจะมีการจัดงานระหว่างวันที่ 28-30 พ.ค. นี้

'วอยซ์ ออนไลน์' ได้สัมภาษณ์ 'เนติวิทย์' ถึงการเตรียมตัวเข้าร่วมงาน โดยเขาบอกว่ารู้สึกดีใจที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นเวทีสิทธิมนุษยชนระดับโลก ในส่วนของเนื้อหาและประเด็นที่จะพูด ได้รับการช่วยเหลือจากอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเรียบเรียง เนื่องจากการปาฐกถายาวถึง 9 นาที และจากที่เนติวิทย์ได้ระบุผ่านเฟซบุ๊กไว้ก่อนหน้านี้ ว่าไม่ถนัดในการพูดภาษาอังกฤษยาวๆ 


15-2-2561 11-20-46.jpg

เมื่อถามถึงประเด็นหลักที่จะนำเสนอต่อนานาประเทศ 'เนติวิทย์' เล่าต่อว่าจะหยิบยกประเด็นสิทธิมนุษยชน ที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าขบขันและย้อนแย้ง รวมถึงการบอกเล่าปัญหาระบบการศึกษาของประเทศไทย พร้อมระบุว่าสองประเด็นหลักที่เตรียมเสนอ คือเหตุผลที่เขาถูกเชิญไปร่วมงานในครั้งนี้

ขณะที่ อุปสรรคห้ามเดินทางออกนอกประเทศ หากมีการใช้เงื่อนไขจากข้อหามาตรา 116 เขายืนยันว่า ไม่ได้รู้กังวลถึงการปิดกั้นแต่อย่างใด เพราะมีโปรแกรม Skype (สไกป์) ที่เป็นช่องทางสื่อสารข้ามประเทศได้ 

ทั้งนี้ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวในประเด็นระบบการศึกษา ในนามกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ก่อนที่จะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยลัย และได้รับตำแหน่งประธานสภานิสิต โดยประกาศจุดยืน 'ปฏิรูปการรับน้อง'

ล่าสุดเขาถูกดำเนินคดีขัดคำสั่ง คสช. จากการร่วมกิจกรรมรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง โดยถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช. พร้อมกระทำความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามความผิดมาตรา 116 

แต่การที่เสียงของคนหนุ่มสาวในศตวรรษที่ 21 ได้รับความสนใจมากขึ้น ในเวทีระดับโลก เมื่อเทคโนยีสอดรับกับแนวคิดที่แตกต่าง สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดพื้นที่และยอมรับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ โดยไม่มีการปิดกั้นและการจองจำความคิดพวกเขา

อ่านเพิ่มเติม :

'เนติวิทย์' ได้รับเชิญเป็นปาฐกงานเพื่อสิทธิมนุษยชนที่นอร์เวย์
พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog