"ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม...เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ...ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ"
ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนไว้ในบทความที่ชื่อว่า 'คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน' ตีพิมพ์ครั้งแรกในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 11 ฉบับ 10 ต.ค. 2516
47 ปีให้หลัง ไม่เพียงคนไทยตระหนักรู้อย่างแจ่มแจ้งแล้วว่ามลพิษทางอากาศส่งผลร้ายกับร่างกายของพวกเขามาแค่ไหนในเชิงประจักษ์ชัดต่อสายตาและระบบหายใจ งานวิชาการจำนวนมากทั่วโลกยังพากันนำผลสรุปพร้อมสถิติขึ้นมาตอกย้ำไม่ขาดสายจนชวนจะเป็นโรควิตกกังวลกันทุกครั้งที่ก้าวขาออกจากบ้าน
ในวิจัยชื่อ 'การเผาไหม้ทางเกษตรกรรมและสุขภาพ ณ แรกกำเนิด' ของ มาคอส แรนเจล และ ทอม โวเกล ที่ศึกษาผลกระทบของการเผาอ้อยต่อสุขภาพมนุษย์ในรัฐเซาเปาโล ประเทศบราซิล เผยว่า ในรัศมี 50 กิโลเมตรโดยรอบพื้นที่เผาอ้อยนั้น เสี่ยงมีฝุ่นละอองขนาด 10 ไมโครอน (PM10) และโอโซน (O3) เพิ่มขึ้นราว 26%-34% และ 8% ตามลำดับ
หากผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ได้รับมลพิษจากการเผาไร่อ้อยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอด จะทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม, คลอดก่อน 32 สัปดาห์ (น้อยกว่า 8 เดือน), ทารกมีขนาดเล็กกว่าปกติ 12% ทั้งยังเพิ่มอัตราการตายของทารกในครรภ์ราว 17 ใน 1,000 คน
ในบทความ 'ต้นทุนของสังคมไทยจากมลพิษทางอากาศและมาตรการรับมือ' รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า ข้อมูลข้างต้นแม้เป็นการศึกษาในบราซิลแต่สะท้อนความเสี่ยงที่คนไทยต้องเผชิญไม่แพ้กัน
โดยนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า เกษตรกรไทยที่ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักอย่าง ข้าว อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ "นิยมเผาเศษวัสดุเหลือใช้จากการทำการเกษตร" เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อไปดูพื้นที่เพาะปลูกของพืชทั้ง 3 ประเภทนั้น กินพื้นที่ไปแล้วกว่า 85.8 ล้านไร่ ในปีการเพาะปลูก 2559/2560
บทความชิ้นนี้ของ อ.เศรษฐศาสตร์ ม.เกษตร เลือกที่จะพุ่งเป้าไปยัง 'ค่าเสียหาย' ที่คนไทยต้องแบกร่วมกันจากมลภาวะที่นับวันยิ่งมีสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยวัดจากสิ่งที่เรียกว่า 'ความเต็มใจที่จะจ่ายในการลดมลพิษ' เมื่อวัดในหน่วย 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) ของ PM10 (เนื่องจากข้อมูลของ PM2.5 ยังมีไม่เพียงพอ)
ก่อนไปดูตัวเลขมูลค่าผลกระทบ ประเด็นสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ 'ความเต็มใจที่จะจ่าย' ในที่นี้หมายถึง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตซึ่งควบรวมถึงการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ ประชาชนจะยอมควักเงินจ่ายในราคาเท่าใด
ผลการศึกษา พบว่า สำหรับกรณี PM10 ในเมืองหลวงของประเทศไทย ทุก 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ที่เพิ่มขึ้นจากค่ามาตรฐาน แต่ละครัวเรือนมีมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายประมาณ 6,300 บาท/ปี หรือคิดเป็นมูลค่าที่คนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายทั้งหมด 18,420 ล้านบาท/ปี (ตัวเลขผู้อาศัยใน กทม. ณ สิ้นปี 2560 มีประมาณ 2.8 ล้านครัวเรือน)
อย่างไรก็ดี ในปี 2560 ระดับ PM10 ใน กทม.สูงถึง 44.21 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินจากระดับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่ 20 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ไปถึง 24 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นมูลค่าที่ผู้อาศัยในเมืองหลวงของไทยต้องจ่าย เท่ากับ 4.4 แสนล้านบาท/ปี
เมื่อจำแนกตามรายจังหวัด งานศึกษาของ รศ.ดร.วิษณุ พบว่า เมื่อประเมินจากระดับ PM10 ที่เพิ่มจากระดับมาตรฐาน 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
ชาว กทม.เป็นผู้แบกค่าเสียหายมากที่สุดในระดับ 1.8 หมื่นล้านบาท/ปี ตามมาด้วยจังหวัดนนทบุรีและชลบุรี ในมูลค่าประมาณ 3,400 ล้านบาท/ปี
ขณะที่แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่มีต้นทุนน้อยที่สุด คิดเป็นเม็ดเงินเพียง 213 ล้านบาท/ปี
ทว่า สิ่งสำคัญที่งานศึกษาข้างต้นเตือนคือมูลค่าความเสียหายที่เห็นข้างต้นเป็นเพียงการพิจารณามิติเดียวที่ไม่ครอบคลุมความเสียหายทางเศรษฐกิจจริงที่เกิดขึ้น เช่น งานศึกษาข้างต้นนี้ ไม่ได้นับรวมผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น
หากถามว่าสิ่งใดทำให้สภาพอากาศของประเทศย่ำแย่ ?
รศ.ดร.วิษณุ ชี้ว่า คำตอบแรกอยู่ในงบประมาณรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีสัดส่วนน้อยสุดเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายตามลักษณะงานอื่นๆ เมื่อพิจารณาตัวเลขงบประมาณระหว่างปี 2558-2562 งบด้านสิ่งแวดล้อมมีค่าเฉลี่ยประมาณ 3,929-10,945 ล้านบาท คิดเป็นเพียง 0.4% ของงบประมาณทั้งปี 2562
ยิ่งเมื่อนำงบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยไปเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ เห็นได้ชัดเจนว่าที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่ให้ความสนใจจะจัดการกับปัญหาแต่อย่างใด
ในปี 2559 ขณะที่สหภาพยุโรปและจีนมีสัดส่วนรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมต่อรายจ่ายรวมทั้งหมดที่ 1.62% และ 2.52% ตามลำดับ ไทยกลับมีสัดส่วนเพียง 0.25%
ประเด็นต่อมา นโยบายจัดการปัญหาเน้นบังคับมากกว่าสร้างให้เกิดแนวคิดพัฒนาตัวเอง โดย อ.เศรษฐศาสตร์ ชี้ว่า "หากภาครัฐไม่มีนโยบายหรือเป้าหมายที่ชัดเจนเรื่องการยกระดับคุณภาพอากาศ เอกชนย่อมไม่มีความพยายามในการปรับตัวเพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและกำไรลดลง"
ประเด็นที่ 3 หวนกลับไปยังระบบบริหารจัดการงานของรัฐบาลที่ขาดการติดตามประเมินผลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่ง รศ.ดร.วิษณุ แนะว่าควรมีการพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกาที่มีการจัดตั้งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (US EPA) พร้อมเน้นการติดตามและประเมินผลอย่างเข้มงวดพร้อมบทลงโทษที่ชัดเจน
ท้ายสุด ไทยยังขาดงานศึกษาวิจัยที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานวิจัยที่จะถูกนำไปเป็นข้อมูลสำคัญในการคิดนโยบายช่วยเหลือประชาชน ซึ่งต่อไป รัฐบาลต้องจัดให้มีการศึกษาวิจัยอย่างถ่องแท้ก่อนนำมาตรการมาใช้ในทางปฏิบัติ