จากสภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทยขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทั้งต่อภาคเกษตรกรรมที่ขาดน้ำในการทำเกษตร และภาคประชาชนที่ไม่มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค
เนื่องจากสภาพอากาศในปีนี้มีความร้อนยาวนาน สิงห์อาสา จึงร่วมกับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา 16 สถาบันของภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมกันเฝ้าระวังภัย รวมถึงลงพื้นที่นำน้ำดื่มแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่บ้านบูรพาพัฒนา หมู่ที่ 6 และบ้านโคกแปะ หมู่ที่ 7 ตำบลโคกสีทองหลาง อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
โดยคาราวานสิงห์อาสา นำน้ำสะอาดกว่า 20,000 ลิตร ลงพื้นที่แจกจ่ายให้กับชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังจัด 'ธนาคารน้ำสิงห์' ซึ่งเป็นแท็งก์น้ำขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 4 แท็งก์ ไปติดตั้งในพื้นที่ทั้ง 2 หมู่บ้าน เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนตลอดช่วงประสบภัย
นายวิทิต น้อยสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายโรงงาน บริษัท มหาสารคาม เบเวอเรช จำกัด กล่าวว่าวิกฤตภัยแล้งในปีนี้รุนแรง ยาวนาน และขยายวงกว้างกว่าทุกปีที่ผ่านมา จนทำให้จังหวัดมหาสารคามประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งถึง 2 อำเภอ คือ อำเภอวาปีปทุม และ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย ในนามของสิงห์อาสา และเครือข่ายนักศึกษา 16 สถาบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงร่วมกันทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ภายใต้โครงการสิงห์อาสาช่วยผู้ประสบภัยแล้ง
เพราะน้ำสะอาดมีความจำเป็นอย่างมากต่อผู้ประสบภัยแล้ง นายวิทิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสนี้ได้นำน้ำดื่มคุณภาพกว่า 20,000 ลิตร มาแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงนำแท็งก์น้ำขนาด 2,000 ลิตร จำนวน 4 ใบ เพื่อมาช่วยในการรองรับน้ำ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนได้
นายอรุณศักดิ์ ประชายะกา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสีทองหลาง กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งหลายอำเภอ แต่ในส่วนของอำเภอวาปีปทุมมีผลกระทบมากที่สุด โดยเฉพาะในหมู่ที่ 6-7 ซึ่งขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคมาเป็นเวลา 3-4 เดือน
นายก อบต.โคกสีทองหลาง สำทับเพิ่มเติมถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า แต่เดิมชาวบ้านอาศัยน้ำผิวดินในการใช้งาน เมื่อน้ำแห้งขอดจึงมีปัญหาเกิดขึ้น ส่วนน้ำใต้ดินก็เป็นน้ำกร่อยและน้ำเค็มไม่สามารถนำมาใช้งานได้
นอกจากนั้น สถานการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลต่อความเสียหายทางด้านการเกษตรอาทิ ข้าวนาปีที่ได้ปลูกไปแล้ว ซึ่งต้องอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าผลกระทบจากภัยแล้งในครั้งนี้ อาจก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาทเลยทีเดียว