ไม่พบผลการค้นหา
คณะผู้เจรจาด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติเห็นพ้องกันในวันพุธ (13 ธ.ค.) ให้มีการเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ แม้ว่านักวิจารณ์จะตั้งข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับช่องโหว่ของข้อตกลงในครั้งนี้ก็ตาม

“ในที่สุดมนุษยชาติก็ได้บรรลุสิ่งที่ค้างชำระมานาน” วอปเก โฮคสตรา กรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านการดำเนินการด้านสภาพอากาศกล่าว โดยหลังจากโลกมีการประชุมด้านมลพิษคาร์บอนมานานเกือบ 30 ปี คณะผู้เจรจาด้านสภาพภูมิอากาศได้บรรลุความตกลงในเอกสารสำคัญ ที่มุ่งเป้าไปจัดการกับเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เช่น การเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

หลังจากเปิดการประชุมเมื่อวันพุธ สุลต่าน อัล-จาเบอร์ ประธานการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 (COP28) ได้ให้การอนุมัติเอกสารกลาง ซึ่งเป็นข้อมูลตรวจจำนวนการใช้พลังงานทั่วโลก ที่ระบุว่าการจัดการกับสภาพอากาศโลกอยู่นอกเส้นทางอย่างไร และจะกลับคืนสู่สภาพเดิมได้อย่างไร “มันเป็นแผนที่นำโดยวิทยาศาสตร์” อัล-จาเบอร์กล่าว

อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์และคณะผู้เจรจาจากบางประเทศระบุว่า ข้อตกลงใหม่นี้ยังมีช่องโหว่ หลังจากที่อัล-จาเบอร์เร่งการดำเนินการประชุมอย่างรวดเร็ว โดยไม่เปิดโอกาสให้นักวิจารณ์ได้โต้เถียงถึงรายละเอียดข้อตกลง

แอนน์ ราสมุสเซน หัวหน้าคณะผู้เจรจาของซามัว ในนามของประเทศหมู่เกาะเล็กๆ วิจารณ์ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ในห้องประชุม เมื่ออัล-จาเบอร์กล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวบรรลุผลแล้ว โดยเธอกล่าวว่า "การแก้ไขเอกสารที่จำเป็นยังไม่ได้ทำอย่างรัดกุม" เธอยังระบุอีกว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นตัวแทนของกลุ่มธุรกิจ แทนที่จะเป็นความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบทวีคูณ แต่ข้อตกลงดังกล่าวอาจ “พาเราถอยหลังมากกว่าก้าวไปข้างหน้า”

“ผมรู้สึกทึ่งกับจิตวิญญาณแห่งความร่วมมือที่นำพาทุกคนมารวมกัน” จอห์น แคร์รี ทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ กล่าว พร้อมย้ำว่าข้อตกลงนี้แสดงให้เห็นว่า ระบบพหุภาคียังคงสามารถทำงานได้ แม้ว่าโลกจะมองเห็นสงครามในยูเครนและตะวันออกกลางก็ตาม “เอกสารนี้ส่งข้อความที่แข็งแกร่งมากไปทั่วโลก” แคร์รีกล่าวย้ำ “หลายๆ คนที่นี่คงชอบภาษาที่ชัดเจนกว่านี้” ในการกำจัดเชื้อเพลิงฟอสซิล เคอร์รีระบุ แต่ทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ กล่าวแย้งว่า ข้อตกลงดังกล่าวจำต้องมีการประนีประนอม

ข้อตกลงดังกล่าวยังรวมถึงการเรียกร้องให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานขึ้นเป็น 2 เท่า ทั้งนี้ ในช่วงต้นของการเจรจา การประชุมได้อนุมัติการตั้งกองทุนพิเศษสำหรับประเทศยากจนที่ได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ ได้ทุ่มงบรวมกันกว่าเกือบ 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.86 หมื่นล้านบาท) เข้าไปอุดหนุนในกองทุนดังกล่าว

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “เป็นครั้งแรกที่ผลลัพธ์ดังกล่าวตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล” กูเตอร์เรสกล่าวเสริมอีกว่า “ยุคของเชื้อเพลิงฟอสซิลจะต้องสิ้นสุด และจะต้องจบลงด้วยความยุติธรรมและความเสมอภาค”

ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ไปไกลถึงขั้นพยายาม "ยุติ" การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ประเทศ เช่น รัฐที่เป็นเกาะเล็กๆ และประเทศต่างๆ ในยุโรป ได้ร้องขอเอาไว้ แต่ข้อตกลงนี้เป็นเพียงแค่การเรียกร้องให้ “เปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบพลังงาน ในลักษณะที่ยุติธรรม เป็นระเบียบ และเสมอภาค เพื่อเร่งดำเนินการในทศวรรษที่สำคัญนี้”

ข้อตกลงยังระบุว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น ในลักษณะที่ทำให้โลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593 และเป็นไปตามภาวะบังคับทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ทั้งนี้ ข้อตกลงคาดการณ์ว่าโลกจะถึงจุดสูงสุดของปล่อยมลพิษคาร์บอนที่เพิ่มมากขึ้นภายในปี 2568 ตามเกณฑ์ที่ตกลงไว้ แต่ข้อตกลงได้ให้โอกาสแก่แต่ละประเทศ อาทิ จีน ที่จะปล่อยมลพิษคาร์บอนถึงจุดสูงสุดได้ภายหลังจากช่วงเวลาดังกล่าว


ที่มา:

https://apnews.com/article/cop28-climate-summit-negotiations-fossil-fuels-dubai-64c0e39e6ad54a98e05e5201a2215293?fbclid=IwAR2q02JFffu_UycyYd-rOIU5DRSaW9qn4FCflf0oxiOGrTo-yJKBDiL6XSU