ไม่พบผลการค้นหา
ครช. ยืนยัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังค้ำชูรัฐเผด็จการ พร้อมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หลังผู้ตรวจการแผ่นดินยุติเรื่อง

คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) นำโดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เดินทางเข้ายื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังจากได้ยื่นให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อปลายปี 2564 และผู้ตรวจการแผ่นดินยุติเรื่อง ไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และตามกฎหมายเมื่อผู้ตรวจการยกคำร้องต้องยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 90 วัน 

LINE_ALBUM_220127_8.jpg

โดยตัวแทน ครช.ต่างสะท้อนปัญหาการบังคับใช้และมองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพและควบคุมผู้เห็นต่าง และระบุถึงสาเหตุที่ต้องมายื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า 

เมื่อเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา ครช. ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ก่อน “ยุติเรื่อง” โดยอ้างว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉินเป็นกฎหมายที่มีความจำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงสามารถบัญญัติจำกัดหรือยกเว้นสิทธิหรือเสรีภาพบางประการได้ และยังอ้างว่ามาตรการใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำหรับการเยียวยาประชาชนจากความเสียหายก็เพียงพอแล้ว โดยผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ตอบหรือให้คำอธิบายต่อประเด็น ข้อสังเกต และข้อโต้แย้งที่ ครช.นำเสนอไปซึ่งชี้ให้เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินขัดกับรัฐธรรมนูญ

LINE_ALBUM_220127_6.jpg

ตัวแทน ครช.ต่างย้ำว่า ไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเช่นได้ ดังนั้นในปี 2565 นี้ ครช.จึงเดินหน้าใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งจะได้พิสูจน์กันอีกครั้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะยังคงทำหน้าที่ในการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของคนไทยมากน้อยแค่ไหน หรือเลือกรักษากฎหมายนี้ไว้เพื่อรักษาอำนาจอันเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด และไร้หลักเกณฑ์ของรัฐ 

ชลิตา ระบุว่า ตนเคยโดนเอาผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เเละขอเป็นตัวแทนผู้โดนคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกคน ในฐานะผู้ร้องที่มายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ ซึ่งเห็นว่าในหลายมาตราของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่บังคับใช้นั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตรา แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะยกคำร้อง แต่ ครช.มีข้อกังขาและการปฏิบัติการภายใต้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของเจ้าหน้าที่นั้น มีการละเมิดสิทธิ์และซ้อมทรมานผู้ถูกกล่าวหามากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตนเคยโดนคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากการเป็นวิทยากรในพื้นที่ด้วย พร้อมยืนยันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่ทางออกจากความขัดแย้งแต่อย่างใด 

LINE_ALBUM_220127_0.jpg

สมยศ ยืนยันว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกนำมาใช้เพื่ออำนาจเผด็จการ เพราะไม่น้อยกว่า 90% ผู้ถูกดำเนินคดีมาจากการแสดงออกทางการเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับการควบคุมโควิด-19 ตามที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้าง และการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตลอด 15 ปีของไทย ส่วนมากเป็นการใช้เพื่อปราบปรามจับกุมผู้เห็นต่างมากกว่าควบคุมโรคติดต่อหรือเรื่องอื่นๆ พร้อมยกตัวอย่างด้วยว่า การฆ่าคนเสื้อแดงตายกลางถนนกว่า 99 ศพก็มาจากอำนาจของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นี้ด้วย ดังนั้น จึงเห็นว่า การดำรงอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือการดำรงอยู่ของรัฐเผด็จการ