ปี 2537 รัฐไทยเกณฑ์ชายไทยไปเป็นทหารราว 85,000 คน
ปี 2554 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 1 ปี ขยับจำนวนขึ้นราว 1 หมื่นคน เป็น 97,000 คนเศษ
ปี 2555 เป็นปีแรกที่แตะ 100,000 คนเศษ
ในจำนวนนี้ ราว 70% สังกัดอยู่ภายในกองทัพบก ที่เหลือกระจายไปยังกองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักปลัดกลาโหม
เมื่อเป็นทหารกองประจำการ จะได้รับค่าตอบแทนรวมเบ็ดเสร็จแล้วราว 10,000 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นเงินเดือน,เงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว, เบี้ยเลี้ยง แต่จะไม่ได้รับเต็มจำนวนเพราะต้องหักสิ่งที่คล้ายเงินบังคับออม คือ หักฝาก ทบ. หักฝากพิเศษกับแต่ละหน่วย นอกจากนี้ยังหักค่าประกอบเลี้ยง เช่น อาหาร เชื้อเพลิง ยานพาหนะ ฯลฯ รวมๆ แล้วสำหรับทหารเกณฑ์ปีแรก จะได้เงินเดือนละประมาณ 6,000 บาท
อย่างไรก็ดี ในความยากลำบากของชีวิตชายไทยชนชั้นล่าง เราจะเห็นว่ามีผู้สมัครใจเกณฑ์ทหารเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในปี 2550 มีราว 20,000 คน ถัดมาอีก 6 ปี มีผู้สมัครเพิ่มเป็นประมาณ 33,000 คน และแม้จะมีผู้สมัครใจสมัครเป็น “ทหารประจำการ” ปีหนึ่งๆ 30,000-40,000 คน แล้วก็ตาม แต่กองทัพยังคงยืนยันว่านั่นไม่เพียงพอสำหรับ ‘ความมั่นคง’
เมื่อดูงบประมาณในภาพรวม เงินส่วนนี้ถูกกระจายไปยังหน่วยต่างๆ เช่น ในงบประมาณรายจ่ายปี 2565 งบเกี่ยวกับ “ทหารกองประจำการ” กระจายอยู่ในส่วนกลาง กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ รวมแล้วอยู่ที่ราว 12,000 ล้านบาท
ส่วนกลางกลาโหม
-ค่าเบี้ยเลี้ยงทหารกองประจำการ 45 ล้านบาท
-ค่าใช้จ่ายในการให้บริการและสนับสนุนทหารกองประจำกัน 3.8 แสนบาท
กองทัพบก
-ค่าตอบแทนพิเศษทหารกองประจำการ 4,852 ล้านบาท
-ค่าตอบแทนกำลังพลสำรอง 103 ล้านบาท
-ค่าเบี้ยเลี้ยงทหาร 5,813 ล้านบาท
-ค่าใช้จ่ายในการเตรียมกำลังพลสำรองเพื่อป้องกันประเทศ 84 ล้านบาท
กองทัพเรือ
-ค่าตอบแทนพิเศษทหารกองประจำการ 1,119 ล้านบาท
กองบัญชาการกองทัพไทย
-ค่าบริการและสนับสนทหารกองประจำการ 53 ล้านบาท
-ค่าเบี้ยเลียงทหารกองประจำการ 1.4 ล้านบาท
กองทัพอากาศ
-ไม่ปรากฏงบที่เขียนเกี่ยวกับทหารกองประจำการ
สมชาย ปรีชาศิลปกุล จากรัฐศาสตร์ มช. เคยให้ข้อมูลว่า อ.ป๋วย อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และหนึ่งในผู้ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารตัวเองของ จอมพลถนอม กิตติขจร อย่างเข้มข้น ได้รับเลือกเป็น สนช. 'สภาสนามม้า' ปี 2517 ด้วยและยังได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 35 กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 2517 ซึ่งนำเสนอแนวคิด เสรีภาพในความคิดและความเชื่อโดยไม่โยงกับศาสนา แต่เป็นอันตกไป เพราะเกรงจะเอื้อให้ระบบสังคมนิยม
สมชายระบุว่า ป๋วยได้เสนอให้เพิ่มมาตรา ว่าด้วย 'บุคคลย่อมมีเสรีภาพในมโนธรรม และการเชื่อในลัทธิใดๆ' แทน เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าในรัฐธรรมนูญ แต่มาตราดังกล่าวก็โดนขวาง เพราะฝ่ายอนุรักษนิยมเห็นว่า สิทธิเสรีภาพใน 'มโนธรรมสำนึก' อาจขัดขวางการเกณฑ์ทหารเพื่อรับใช้ชาติจนประสบปัญหาเรื่องความมั่นคง ซึ่งป๋วยได้ลุกขึ้นอภิปรายว่า มโนธรรมในการเกณฑ์ทหาร หรือรับใช้ชาตินั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่า เกณฑ์ทหารนั้นจำเป็นเพียงใด เมื่อเทียบกับการบูรณะชนบท หรือบูรณะแหล่งเสื่อมโทรม ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะหากเกณฑ์ทหารได้ ก็ควรเกณฑ์คนไปพัฒนาชนบทได้ หลังการปะทะกันทางความคิด ข้อโต้แย้งของป๋วยก็ตกไปตามเคย เพราะโหวตแพ้เสียงข้างมาก
หลังเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เคยแถลงนโยบายต่อสภาในฐานะนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2539 ว่าจะต้องมีการ “ปรับปรุงระบบการคัดเลือกทหารให้เป็นไป ด้วยความสมัครใจ” แต่เนื่องจากพล.อ.ชวลิตประกาศลาออกกระทันหันหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งใน ปี 2540 แผนในการยกเลิกเกณฑ์ทหารที่ร่างไว้จึงไม่ได้มีการนำไปทำต่อ
ปีนั้นเป็นปีที่เนติวิทย์ อายุ 18 ปี บริบูรณ์ เขาได้ออกแถลงการณ์ “คำประกาศความเป็นไทเมื่ออายุ 18 ปี ข้าพเจ้าจะไม่เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเกณฑ์ทหารของกองทัพไทย” ประกาศไว้ ณ องค์กรต่อต้านสงครามนานาชาติ (War Resister’ International) ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
กสม. เคยเสนอเรื่องต่อครม.ให้พิจารณายกเลิกการบังคับเกณฑ์ หรือจับสลากใบดำใบแดง ให้เหลือเพียงแบบสมัครใจและเพิ่มผลประโยชน์เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ แต่ครม.ก็ตอบกลับว่าไม่สามารถทำได้เพราะจะทำให้ทหารกองประจำการมีจำนวนไม่เพียงพอ
“ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ลดจำนวนนายพลและนายทหารระดับสูงลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จะมีพรรคการเมืองไหน มีความกล้าหาญพอจะเสนอนี่เป็นนโยบายไหม?” ทวีตข้อความเมื่อ 4 เม.ย.2558
เว็บไซต์ประชาไทรายงานถึงการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง มีนาคม 2562 พบว่า 4 พรรคการเมือง ได้แก่ เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย และประชาธิปัตย์ (นำโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ขณะที่ยังไม่ลาออก) นำเสนอเรื่องระบบเกณฑ์ทหารและให้มีแต่ระบบสมัครใจ หากพิจารณาในรายละเอียด พบว่า เรื่องที่ดินทหาร พรรคเสรีรวมไทยกล่าวไว้ชัดเจนที่สุด เรื่องการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง พรรคเพื่อไทยระบุไว้ชัดเจนที่สุด เรื่องรายละเอียดการปรับลดทรัพยากร-บุคลากรกองทัพ พรรคอนาคตใหม่นำเสนอเป็นแพ็คเกจรวมมากที่สุด
หลังจากมีแคมเปญปรับเปลี่ยนโครงสร้างทหารจากบรรดาพรรคการเมือง เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อนมีการเลือกตั้งไม่นาน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ขณะนั้นตอบโต้แนวคิดนี้อย่างรุนแรง ดูจากรายงานข่าว
“บิ๊กแดง ไล่ หญิงหน่อย ไปฟังเพลง"หนักแผ่นดิน" หลังชูนโยบายตัดงบฯกลาโหม10เปอร์เซ็นต์-ยกเลิกเกณฑ์ทหาร”
ปี 2563 นายกฯ ปัดตก ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร พรรคอนาคตใหม่
14 พ.ย.2562 พล.ท.พงศกร รอดชมภู ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยื่นเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.รับราชการทหาร ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยอ้างอิงถึงหลักการตามแนวทางของพรรค คือ ต้องการปฏิรูปกองทัพ และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้ใช้ระบบสมัครใจ โดยรับสมัครตั้งแต่อายุ 18 ปีเหมือนสหรัฐฯ ทำงานได้จนถึงผู้บังคับกองพันอายุไม่เกิน 46 ปี - ยกเลิก รด.- เพิ่มความเข้มข้นการฝึกให้เป็นมาตรฐานเดียว ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน - เรียนรู้ประชาธิปไตยและมีมาตรฐานการทำงานแบบสากล - เพิ่มสวัสดิการ เงินเดือน ทุนการศึกษาและทุนประกอบอาชีพเมื่อปลดประจำการ
16 ต.ค.2563 สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งว่า นายกฯ พิจารณาไม่รับรองร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า หากร่างกฎหมายใดเกี่ยวข้องกับการเงินก่อนสภาพิจารณาต้องส่งให้นายกฯ รับรองก่อน หากนายกฯ ไม่รับรองก็เป็นอันตกไป
พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ตอบคำถามเรื่องนี้ว่า เหตุผลที่นายกฯ ไม่รับรองร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะจากการพิจารณาของหลายหน่วยงาน เห็นว่าตัวอาจก่อให้เกิดผลผูกพัน ภาระด้านการคลังในอนาคต และกระทบต่อการตั้งงบประมาณว่าด้วยกำลังพลและสวัสดิการภาครัฐ ที่ผ่านมากองทัพปฏิรูปแผนกำลังพลต่อเนื่องเพื่อไม่ให้มีผลกระทบ เพราะการปฏิรูปกองทัพไม่สามารถทำได้โดยระยะเวลาอันสั้น ต้องกำหนดแผนระยะ 5 ปี 10 ปี เพื่อไม่ให้กระทบต่อประสิทธิภาพของกองทัพ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการปฏิรูปกองทัพมีแผนปฏิรูปต่อเนื่อง ปรับลดหน่วย อัตรานายพลที่ไม่มีความจำเป็นลง ขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดแผน
แต่แผนดังกล่าวที่กองทัพอ้างว่ากำลังจัดทำ ยังไม่ปรากฏสู่สาธารณะ
ตั้งแต่สมัยโบราณ ความสัมพันธ์แบบขุนนาง-ไพร่ ถือเป็นรูปแบบวิธีการเกณฑ์ทหาร หรือเรียกว่า 'วิธีการเกณฑ์เลข' คือ ชายทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18–60 ปี มีหน้าที่รับราชการ ต้องมาเข้าทะเบียนที่กรมพระสุรัสวดี และมีการสักท้องมือเพื่อแสดงตนว่าเป็นคนสังกัดกรมใดก็ขึ้นตรงต่อขุนนางคนนั้น
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายไว้ว่า เมื่ออายุยังอยู่ในระหว่าง 18 -20 ปี เรียกว่า ‘ไพร่สม’ ให้มูลนายฝึกหัดไปก่อนยังมีต้องรับราชการ เมื่ออายุพ้น 20 ปีแล้วจึงยกขึ้นเป็นตัวทหาร เรียกว่า ‘ไพร่หลวง’
ไพร่หลวง มีหน้าที่ต้องมาอยู่ประจําราชการ ปีละ 6 เดือน กําหนดนี้ภายหลังลดลงมาปีละ 4 เดือน จนมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ลดลงเหลือปีละ 3 เดือน
ขณะที่งานวิจัย 'ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหาร' ของธนัย เกตวงกต ระบุว่า ไพร่พลที่สักแล้วถ้าอยู่หัวเมืองชั้นในโดยรอบกรุงเทพฯ ต้องเข้ามารับราชการปีละ 2 เดือน และมีการระดมปีละครั้ง แต่ถ้าไพร่พลที่อยู่ห่างไกลให้สังกัดกับขุนนางเมืองนั้นๆ มีหน้าที่รับราชการปีละ 1 เดือน ต่อมาในปลายสมัยอยุธยา ได้กำหนดวิธีผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร โดยยอมให้ไพร่จ่ายเงินให้แก่ขุนนางเพื่อแลกกับการไม่ต้องรับราชการทหาร จ่ายปีละ 18 บาท ไพร่จำนวนมากจึงยอมเสียเงินแทนการรับราชการ
ในยุคร. 5 มีการเปลี่ยนแปลงให้เกิดระบบชัดเจน ทันสมัย และสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ผลตอบแทน เนื่องจากมีภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมของตะวันตก และเกิดกบฏภายในประเทศจำนวนมาก เช่น การปราบฮ่อใน พ.ศ. 2428 – 2431 กบฏผีบุญ ร.ศ. 120 (พ.ศ. 2444 – 2445) รวมถึงผู้ร้ายที่ก่อการจลาจล ในมณฑลพายัพเมื่อ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทหารที่มีการฝึกฝนและอาวุธสมัยใหม่ในการปราบปราม
สำหรับนักศึกษาวิชาทหารหรือการเรียน รด. นั้น เริ่มต้นหลังการรัฐประหาร 2490 โดยในปี 2492 ได้เปิดการศึกษาวิชาทหาร ตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ รับเฉพาะนักเรียน ม. 7 – 8 นักศึกษามหาวิทยาลัย และนักเรียนอาชีวะชั้นสูง หลักสูตร 5 ปี ต่อมาจึงปรับเป็น 2 ปี นับเป็นจุดกำเนิดของช่องทางพิเศษหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารของคนไทยนับแต่นั้น
ดังเห็นได้จากระดับการศึกษาของพลทหารเกณฑ์ในปี 2498 แบ่งเป็น ผู้ไม่รู้หนังสือเลย มี 15.99% จบต่ำกว่าป.4 คิดเป็น 25.45% จบป. 4 คิดเป็น 48.44% จบม.ต้นคิดเป็น 5.34% จบม.ปลายคิดเป็น 4.36% จบมหาวิทยาลัย คิดเป็น 0.89%
"โครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นกับวิธีคิดและการปฏิบัติต่อพลทหารสมัยใหม่ไม่แตกต่างจากระบบเดิม ผู้ที่ถูกคัดเลือกเป็นพลทหารเกณฑ์สมัยใหม่ก็มีลักษณะที่รวมของกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสและทางเลือกในสังคมมากเพียงพอ การปฏิบัติต่อทหารเกณฑ์รูปแบบต่างๆ ก็เป็นรูปแบบที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีตเพียงแค่เปลี่ยนรูปลักษณ์ออกไปดังปรากฏในการนำพลทหารเกณฑ์ไปเป็นทหารบริการแก่นายทหารระดับสูงทั้งในและนอกราชการหรือการปฏิบัติต่อพลทหารด้วยความรุนแรง ก็เป็นรูปแบบวิธีคิดการจัดระเบียบความสัมพันธ์แบบขุนนาง-ไพร่ ที่ดำรงอยู่ตั้งแต่อดีต และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน” งานวิจัยระบุ
ในปาฐกถาป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 เมื่อปี 2563 หัวข้อ ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย’ ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
“ที่กล่าวว่าการเลิกทาส การเปลี่ยนไพร่เป็นทหารและกฎหมายสมัยใหม่ ย่อมเท่ากับว่าทุกคนเสมอภาคกันแล้ว น่าจะเป็นตรรกะที่ง่ายเกินไป การเลิกไพร่ทาสเป็นเพียงทำให้สถานะไพร่และทาสยุติลง แต่ความไม่เสมอภาคมีแบบอื่นอีกมากมาย สถานะของบุคคลยังแบ่งตามชนชั้นทางสังคม ความรับผิดชอบทางสังคมของปัจเจกบุคคลก็มีต่างๆ กันไปตาม ‘หน้าที่’ บุคคลทุกคนมิได้มี ‘สิทธิ’ (rights) ที่พึงมีเท่ากันหรือไม่ต่างกัน บุคคลจึงมิใช่ individual ที่เสมอภาคกัน
คำว่า ‘พลเมือง’ ที่มักใช้ในความหมายเท่ากับ citizen ในรัฐประชาธิปไตยอย่างที่ใช้กันในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา แท้ที่จริงเป็นคำเก่า (พบได้ในกฎหมายตราสามดวง) แปลตรงตัวว่า พละกำลังของเมือง หมายถึงไพร่ฟ้าที่เป็นกำลังแรงงาน เป็นมือตีนและกล้ามเนื้อของบ้านเมือง ‘พลเมือง’ จึงหมายถึงราษฎรในเชิง ‘หน้าที่’ คือเป็นองคาพยพในองค์รวมที่เรียกว่าชาติ มีหน้าที่เป็นพละกำลังของเมือง ‘พลเมือง’ จึงไม่รวมชนชั้นปกครองเพราะพวกเขาเป็นศีรษะ สมอง หรือหัวใจของเมือง ดังนั้น ‘พลเมือง’ จึงไม่ใช่ citizen มิได้สะท้อนความเป็นปัจเจกชน (individuality) ไม่สนใจสิทธิของปัจเจกชน (individual rights) ความเป็นส่วนตัว (privacy) และสิทธิทางการเมือง เป็นต้น
เหตุผลที่ใช้อธิบายความไม่เสมอภาคกันเป็นประจำก็คือ ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้ เป็นความบกพร่องของบางคนที่ยังไม่ดีพอ เป็นกรณียกเว้นที่ตามปกติไม่เป็นเช่นนั้น แต่ความไม่เสมอภาคในสังคมไทยเป็นเรื่องทั่วไป พบได้เป็นปกติ แถมยังหนักหน่วงขึ้นในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด เพราะอภิสิทธิ์ทางกฎหมายของบางคนบางกลุ่มบางชนชั้นกลายเป็นเรื่องไม่ต้องละอายอีกต่อไป อวดกันโจ่งแจ้ง แก้ตัวน้ำขุ่นๆ แบบไม่ต้องเห็นหัวสาธารณชนก็บ่อย และถึงที่สุดคือออกกฎหมายให้อภิสิทธิ์แก่บางคนบางกลุ่ม ตามด้วยการเฉลิมฉลองอภิสิทธิ์เช่นนั้น ตอกย้ำอย่างชัดๆ โจ่งแจ้งว่าความไม่เสมอภาคทางกฎหมายนั้นเป็นไปตามกฎหมาย
ความเชื่อที่ว่ากองทัพและการเกณฑ์ทหารแสดงถึงความเสมอภาคของราษฎร เป็นความเข้าใจผิดมายาวนานของนักประวัติศาสตร์ กองทัพไทยเป็นสถาบันที่สะท้อนระเบียบความสัมพันธ์ของคนในวัฒนธรรมศักดินาแบบใหม่ นั่นคือราษฎรเสมอภาคกันภายใต้อำนาจและบารมีของนายพล ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้บังคับบัญชา แต่เป็นชนชั้นศักดินาใหม่ในเครื่องแบบ ส่วนทหารเกณฑ์และชั้นผู้น้อยก็ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ใต้บังคับบัญชา แต่เป็นไพร่แบบใหม่นั่นเอง
[นี่อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่การยกเลิกทหารเกณฑ์เป็นสิ่งยากเย็นอย่างยิ่ง เพราะการมีทหารเกณฑ์เป็นคนรับใช้เป็นสิ่งยืนยันถึงศักดินาของนายพล (ทำนองเดียวกับมูลนายต้องมีไพร่ทาสรับใช้) หากไม่มีทหารเกณฑ์ ความเป็นชนชั้นมูลนายของนายพลก็สิ้นสุดลง นี่ยังเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีนายพลจำนวนมาก เพราะนายพลเป็นบรรดาศักดิ์ของศักดินาใหม่ มีกี่คนก็ได้ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความต้องการของกองทัพสมัยใหม่ การมีทหารเกณฑ์และจำนวนนายพลจึงเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ล้วนๆ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการทหารแต่อย่างใด]”
เรียบเรียงข้อมูลจาก
https://thestandard.co/9-years-of-military-service/
https://www.tcijthai.com/news/2014/05/watch/4294
https://www.tcijthai.com/news/2015/31/watch/5582
https://prachatai.com/journal/2019/12/85502
https://prachatai.com/journal/2019/03/81612
https://www.silpa-mag.com/history/article_42257
https://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/14043.pdf
https://www.posttoday.com/politic/report/420629
https://thaipublica.org/2020/03/pueylecture-thongchai-rule-by-law/
https://www.prachachat.net/politics/news-552088
https://thaiarmystory.blogspot.com/2016/11/blog-post_22.html
https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/85638-bonus-85638.html
https://futureforwardparty.org/?page_id=3024
https://www.iseas.edu.sg/wp-content/uploads/2021/03/ISEAS_Perspective_2021_56.pdf
https://www.ssoar.info/ssoar/bitstream/handle/document/73454/ssoar-2021-chambers_et_al-Thailands_Security_Sector_Deform_and.pdf?sequence=1&isAllowed=y&lnkname=ssoar-2021-chambers_et_al-Thailands_Security_Sector_Deform_and.pdf
https://pubadm.crru.ac.th/pub_web2021/application/views/pubjo/publicfiles/61/161115703161.pdf
https://www.amnesty.or.th/files/7616/3039/6300/ASA3919952020THAI.pdf
http://xn--12c1eab8a.com/recommendations/%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b8%b1%e0%b8%87%e0%b8%aa%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a5%e0%b8%b6%e0%b8%81%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b3%e0%b8%a5%e0%b8%b1/