นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ทิศทางการส่งออกไทยปี 2562 คาดว่าจะมีมูลค่า 251,338 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 0.64 เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ประกอบการกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ รวมถึงค่าเงินบาทมีแนวโน้มโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่า อัตราแลกเปลี่ยน 29-31 บาท จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทของปีนี้ หายไปร้อยละ 0.6-1.5 คิดเป็นมูลค่าอยู่ระหว่าง 15,530 ถึง 39,232 ล้านบาท โดยการส่งออกกลุ่มยานยนต์จะได้รับผลกระทบมากที่สุด รองลงมาคือ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยาง และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามลำดับ โดยหากไทยต้องการให้ภาพรวมการส่งออกปีนี้ไม่ติดลบ หรืออยู่ที่ ร้อยละ 0 จะต้องเร่งการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังให้ขยายตัวเป็นบวกไม่ต่ำกว่าเดือนละ ร้อยละ 2.9 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและยากมาก เพราะมีปัจจัยแวดล้อมที่เสี่ยงกระทบทั้งภายในและนอกประเทศ โดยแนวทางเร่งด่วนคือ รัฐบาลจะต้องเร่งผลักดันตลาดใหม่ๆ เช่น อินเดีย แอฟริกา เพื่อนำมาลดทอนตลาดที่หายไปจากสหรัฐฯและจีน น่าจะช่วยให้การส่งออกดีขึ้นได้
ส่วนประเด็นที่การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ หากมีการปรับขึ้นเป็น 400 บาทต่อคนต่อวัน จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำของไทยสูงสุดเป็นอันดับสามในประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และบรูไน จะยิ่งซ้ำเติมภาคการส่งออกให้ติดลบลงอีกร้อยละ 1.8 หรือจะทำให้มูลค่าหายไปอีก 140,000 ล้านบาท