ทว่าปีการศึกษา 2562 คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดสาขาใหม่ที่มีชื่อวิชาแปลกตา ดูไม่น่าเข้าคู่กันอย่าง ‘ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์’ บรรจุไว้ในหลักสูตร ซึ่งจะผลิตบัณฑิตที่รวมเอานักภาษาศาสตร์ และโปรแกรมเมอร์มาไว้ในคนๆ เดียวกัน
เดิมทีภาษาศาสตร์เป็นสาขาความรู้ที่มุ่งตอบคำถามเกี่ยวกับภาษาว่า มนุษย์เข้าใจภาษาได้อย่างไร กลไกอะไรที่ทำให้มนุษย์สื่อสารเข้าใจกันได้ รศ. ดร. วิโรจน์ อรุณมานะกุล อาจารย์ผู้บุกเบิกความรู้ด้านเทคโนโลยีภาษาในจุฬาฯ มองว่า ผู้เรียนอักษรศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นเอกทางด้านภาษาต่างๆ ประวัติศาสตร์ หรือปรัชญาก็ตาม หากมีวิชาโทอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเน้นเรื่องของการเรียนรู้เทคโนโลยี จะสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาเปิดมิติของการศึกษาให้กว้างมากขึ้นได้
“ณ ปัจจุบันมีงานที่ต้องการคนจากสองฝั่งมาทำงานร่วมกัน คือนอกจากคนที่จบคอมพิวเตอร์มาทำโปรแกรมพัฒนาระบบแล้ว เขาต้องการคนที่รู้เรื่องเกี่ยวกับเรื่องของภาษาด้วย เพื่อที่จะมาช่วยในการดูข้อมูล กำกับข้อมูล แล้วก็วิเคราะห์ผลที่ได้จากระบบว่ามันเกิดอะไรขึ้นจากข้อมูลพวกนี้” รศ. ดร. วิโรจน์ กล่าว
ที่ผ่านมา ทางคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มีการสอนวิชาโท และวิชาเลือกอย่างภาษาศาสตร์ หรือเทคโนโลยีภาษาอยู่แล้ว จึงเปิดหลักสูตรเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศขึ้นในระดับปริญญาตรี เพื่อตอบรับกับความต้องการใหม่ๆ ทั้งทางวิชาการและตลาดงาน โดยหนึ่งในสิ่งที่ความรู้ข้ามพรมแดนนี้ทำได้คือ การสอนให้คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจ วิเคราะห์ผล และตีความภาษามนุษย์ได้มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่เทคโนโลยีอย่างแอปพลิเคชันผู้ช่วยอัจฉริยะที่สามารถโต้ตอบกับเราได้ด้วยเสียงหรือข้อความในภาษาต่างๆ
ทางด้าน ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ อาจารย์ภาควิชาภาษาศาสตร์ ผู้สอนสาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์��หาวิทยาลัย อธิบายว่า ความรู้ด้านภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์นั้นสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการใช้การประมวลภาษาธรรมชาติ (natural language processing) หรือภาษาที่มนุษย์ใช้ ไปสอนให้เซิร์ชเอนจินอย่างกูเกิลค้นหาได้ฉลาดขึ้น การสร้างโปรแกรมตอบคำถามอัตโนมัติ การแปลภาษาด้วยเครื่อง (machine translation) หรือการรู้จำเสียงพูด (speech recognition) ซึ่งใช้พัฒนาโปรแกรมทำให้คอมพิวเตอร์เข้าใจคำสั่งด้วยเสียงของมนุษย์หรือการแปลงเสียงพูดให้กลายเป็นตัวหนังสือ นอกจากนี้ยังสามารถนำความรู้ไปวิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะของการวิเคราะห์ความรู้สึก (sentiment analysis) ทราบได้ว่าผู้คนมีความคิดเห็นอย่างไรกับสินค้าหรือประเด็นต่างๆ ในสังคมได้อีกด้วย
เมื่อถามถึงคำถามคาใจว่า สาขาวิชานี้จะทำให้นักแปลตกงานหรือไม่ ดร.อรรถพล ยิ้มให้กับคำถามที่พบบ่อยนี้ แล้วตอบว่า อาจจะ แต่ส่วนหนึ่งก็มองว่า อนาคตนักแปลจะใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อให้การแปลเป็นไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วมากขึ้น
“ผมว่าไม่ใช่จะทำให้นักแปลจะตกงานไป ผมว่าทำให้นักแปลสามารถทำงานได้ดีขึ้นมากกว่า ทำงานได้โดยใช้เวลาน้อยลง และคุณภาพการแปล โดยรวมแล้วดีขึ้น”
ในฐานะผู้ที่เคยผ่านการทำงานในฐานะนักวิทยาการข้อมูล (data scientist) ในซิลิคอนวัลเลย์ ศูนย์กลางนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา ดร. อรรถพล มองว่า ความรู้ที่ผสมผสานทักษะทางด้านภาษาศาสตร์ การทำฐานข้อมูล และการเขียนโปรแกรมไว้ด้วยกันนี้ กำลังเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง
“ตอนที่ผมทำงานและเรียนอยู่อเมริกาจะเห็นได้ว่าทางด้านเทคโนโลยีบ้านเราจะตามเขาอยู่ประมาณ 5-10 ปี เพราะฉะนั้นผมเห็นแล้วว่ามันมีการประยุกต์ใช้เยอะมากเลยสำหรับภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ แล้วผมว่าตอนนี้พื้นที่ในบ้านเราก็ยังมีอยู่ ไม่ใช่ทุกโจทย์ถูกตอบไปหมดแล้ว” ดร.อรรถพล กล่าวพร้อมเสริมว่า ความรู้ความเชี่ยวชาญการประมวลภาษาธรรมชาติ ซึ่งเป็นการสอนเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ทำหน้าที่ทางภาษาแทนมนุษย์ได้ เช่น ตอบโต้กับเราได้หรือค้นหาข้อมูลให้เราได้ หรือตอบคำถามต่างๆ กำลังเป็นที่ต้องการของบริษัทในหลายด้านทั้งธุรกิจทางด้านการสื่อสาร การธนาคาร ไฟแนนซ์ ที่ปรึกษาธุรกิจ และสตาร์ทอัพต่างๆ เพราะตำแหน่งงานมีมากกว่าคนที่มีคุณสมบัติเพียงพอ
“ผมว่ามันมีอยู่ไม่กี่เอกที่รวมทั้งวิทย์ทั้งศิลป์จริงๆ ทางฝั่งศิลป์ก็คือเรายังต้องลงไปตีความข้อมูลอยู่ ยังต้องนึกถึงตัวภาษาอยู่ นึกถึงว่าเวลาคนเขาใช้ภาษาโดยธรรมชาติเนี่ยเขาใช้กันอย่างไร หรือนึกถึงทฤษฎีทางภาษาศาสตร์ว่าเรามีวิธีในการวิเคราะห์ข้อมูลทางภาษาทั้งในระดับประโยค ในระดับเสียง หรือในระดับคำ มันมีวิธีการอย่างไรบ้าง ส่วนทางด้านวิทยาศาสตร์ เราก็จะนึกถึงการเขียนโค้ด การใช้โมเดลต่างๆ” ดร.อรรถพล กล่าว
สำหรับการใช้ความรู้ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในการทำงานนั้น ศุภวัจน์ แต่รุ่งเรือง นักภาษาศาสตร์ จาก กสิกร บิซิเนส - เทคโนโลยี กรุ๊ป อธิบายว่า การสอนเครื่องซึ่งทำงานแบบดีปเลิร์นนิง (deep learning) ที่ทำอยู่นั้นได้ใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์โดยตรงในการสอนภาษาธรรมชาติให้เครื่องตามวัตถุประสงค์ โดยยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพ เช่น การทำให้เครื่องเข้าใจว่า ‘ลูกเสือ’ คือคำๆ เดียว โดยไม่ทำความเข้าใจเป็นคำว่า ‘ลูก’ และคำว่า ‘เสือ’ แยกจากกัน
“จริงๆ แล้วภาษาของมนุษย์ซับซ้อนเกินกว่าที่เครื่องจะเข้าใจได้ แต่เราต้องหาลักษณะหรือคุณสมบัติที่สามารถจะมองในมุมมองของเครื่องได้ เช่นดูว่าคำลำดับอย่างไร แล้วสามารถแทนค่าเป็นตัวเลขได้ไหม แล้วนำคุณสมบัติเหล่านี้ไปคำนวณ ซึ่งภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์สอนเราตรงนี้ สอนว่าเราจะเข้าใจตรรกะของเครื่องได้อย่างไรผ่านมุมมองความรู้เชิงภาษาศาสตร์” ศุภวัจน์ กล่าว
กระแสการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับความรู้ศาสตร์อื่นๆ นั้นคือการปรับตัวใหม่ของสถานศึกษา ในปีที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) เพิ่งมีการประกาศตั้งวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์สตีเฟน เอ. ชวาร์ซมัน (The Stephen A. Schwarzman College of Computing) วิทยาลัยด้านปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนศาสตร์ในคณะอื่นๆ ภายในเอ็มไอที เนื่องจากเล็งเห็นว่า ทุกศาสตร์จำเป็นต้องเข้ามาใช้เทคโนโลยีทางด้านนี้โดยไม่แยกกันเป็นเอกทัศน์
สำหรับสาขาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นความร่วมมือของภาคภาษาศาสตร์กับภาคบรรณารักษ์ซึ่งมีความรู้ทางด้านสารสนเทศ แบ่งความรู้ออกเป็น 3 ศาสตร์ใหญ่ๆ ด้วยกันคือการเรียนภาษาศาสตร์เพื่อให้เข้าใจระบบและกลไกของภาษา การเรียนสารสนเทศเพื่อให้มีความรู้ในการออกแบบ จัดการ และจัดเก็บข้อมูลที่จะดึงมาใช้ และการเรียนด้านเทคโนโลยีที่ประกอบด้วยการเขียนโปรแกรม และการใช้โปรแกรมหรือเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อทำงานในด้านภาษาศาสตร์
รศ. ดร. วิโรจน์ มองว่า คนที่มีความรู้สหวิทยาการจะเป็นที่ต้องการในอนาคต แต่อย่างไรตามความเป็นสหวิทยาการไม่ได้หมายความว่าต้องรู้ทุกอย่างเท่ากันหมด แต่จำเป็นต้องรู้หลายๆ ด้านโดยอาจเน้นความชำนาญเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ในหลักสูตรปริญญาตรีของเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศจำเป็นต้องเรียนการเขียนโปรแกรม รู้วิธีสั่งการคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นพื้นฐานหนึ่งที่สำคัญ และเป็นความรู้ให้สามารถทำงานร่วมกับคนในสาขาอื่นได้ แต่ทางฝั่งสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ก็อาจจะเน้นการเขียนโปรแกรมมากกว่า เขียนได้ดีและเร็วกว่า
“เวลาทำงานจริง มันก็จะเป็นทีมโปรเจกต์ที่มาจากหลายๆ คณะมาทำงานร่วมกัน คนที่ทำทางด้านคอมพิวเตอร์ เพียวๆ อย่างเดียวอาจจะขาดสัญชาตญาณหรือความเข้าใจในตัวข้อมูลภาษา เพราะฉะนั้นถ้ามีคนจากอีกฝั่งหนึ่ง คือคนที่มีพื้นฐานทางด้านภาษาดี เข้าใจในเรื่องของหลักทางภาษาศาสตร์ไปทำงานร่วมกัน ก็จะทำให้การทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น” รศ. ดร. วิโรจน์ กล่าว