คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ขอเชิญประชาชนผู้ต้องการแสดงออกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (รัฐธรรมนูญ ปี 2560) เป็นปัญหา และจำเป็นจะต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้เลือกตัวแทนในการเขียน มาร่วมยื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ) ในวันที่ 13 มี.ค. 2563
โดยเฟซบุ๊กของ ครช. ได้ระบุถึงรายละเอียด ดังนี้
การยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว เป็นไปตามที่ น.ส.ธนิกานต์ พรพงศาโรจน์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ฐานะโฆษก กมธ. เปิดเผยว่า ได้กมธ. เปิดช่องทางเพื่อรับความเห็นจากประชาชนต่อแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยสามารถยื่นต่อ กมธ. โดยตรงได้ ในวันและเวลาราชการบริเวณชั้น 1 อาคารรัฐสภา ถ.สามเสน แขวง ถ.นครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ครช. ได้มีการเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยให้ประชาชนเป็นผู้เขียนผ่านทางออนไลน์ (http://Change.org/PeoplesConstitution) พร้อมระบุเหตุผลและความจำเป็นในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า.
"ปัจจุบันดูเหมือนประเทศไทยจะคืนกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตย คือ มีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งและมีพรรคการเมืองจำนวนถึง 26 พรรคในสภา ทว่าในความเป็นจริงประเทศไทยยังคงอยู่ภายใต้การผูกขาดอำนาจและขาดการตรวจสอบถ่วงดุลแทบไม่ต่างจากการอยู่ภายใต้คณะรัฐประหารหรือ คสช.
ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายที่เป็นฐานในการใช้อำนาจทางการเมืองเกือบทุกฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประกาศและคำสั่ง คสช. ฯลฯ ต่างก็เขียนขึ้นโดยคนของ คสช. และประกาศใช้โดยองค์กรของ คสช. ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระแทบทั้งหมด ซึ่งต้องทำหน้าที่ตีความบังคับใช้กฎหมายต่างก็มาจากระบบการคัดเลือกภายใต้อำนาจของ คสช.
ข้อสำคัญก็คือ "รัฐธรรมนูญ ปี 2560" ได้วางกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช. เอาไว้อย่างแน่นหนา เช่น การเปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง การมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดพิเศษ 250 คน มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อนำมาผนวกกับระบบเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวที่ทั้งลดทอนและบิดเบือนเสียงของประชาชน หรือการเปลี่ยนสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. ก็ทำให้การสืบทอดอำนาจ คสช. เป็นไปโดยสะดวกในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ประโยชน์จากสภาเสียงปริ่มน้ำที่เมื่อแพ้การลงมติก็ใช้วิธีนับคะแนนใหม่ หรือใช้ทางลัดออก “พระราชกำหนด” โดยไม่ต้องผ่านการอภิปรายของสภาผู้แทนฯ หรือการใช้อำนาจนอกระบบ "ซื้อขาย" ส.ส.งูเห่า โดยไม่มีองค์กรอิสระตรวจสอบ รวมถึงการใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่มีสายสัมพันธ์กับ คสช. ลดทอนความเข้มแข็งของสถาบันพรรคการเมือง จนอำนาจนิติบัญญัติเสื่อมถอยและอ่อนแอเกินกว่าจะตรวจสอบอำนาจรัฐบาลได้ ส่งผลให้รัฐบาล “คสช.2” ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปกครองประเทศด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งกว่า “เผด็จการรัฐสภา”
คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จึงเห็นว่าหนทางที่จะล้ม “ระบอบ คสช.” และพาประเทศไทยกลับสู่ “ประชาธิปไตย” หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน อันเป็นต้นทางของกฎหมายอีกหลายฉบับที่สร้างกลไกสนับสนุนอำนาจให้ คสช. แต่เนื่องจากกลไกตามรัฐธรรมนูญที่ถูกวางเอาไว้ไม่สามารถทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ง่าย เพราะต้องใช้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อย่างน้อย 84 เสียง และในประเด็นสำคัญยังต้องผ่านการทำประชามติ และแม้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว แต่คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวก็มีสัดส่วนของฝ่ายรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก ทำให้การแก้ไขผ่านกลไกที่มีอยู่ล่าช้าและติดขัด
จึงมีแต่การรวมพลังของประชาชนครั้งใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถกดดันให้รัฐบาล “คสช.2” รวมถึง ส.ว. “เปิดไฟเขียว” ให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเดินหน้าไปได้"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง