ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ-นักกฎหมาย เห็นร่วม สนช. ออกกฎหมายซ่อนเงื่อน ไม่ฟังเสียงประชาชน

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเสวนาวิชาการ เรื่อง ก้าวสู่ปีที่ห้า "สภาแต่งตั้งประชาชนได้อะไร" ณัชปกร นามเมือง ตัวแทนจากไอลอว์ กล่าวว่า มีกฎหมายอย่างน้อย 6 ฉบับ ที่มีการหมกเม็ดยื้อการพิจารณา สะท้อนได้ว่าผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการออกกฎหมายคือตัว สนช.เอง

เสวนาสภาแต่งตั้ง


ขณะที่การออกกฎหมายควบคุมการชุมนุม ได้จำกัดและตีกรอบกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอยากเลือกตั้ง รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่วน สนช. เองไม่ได้มีหน้าที่ถ่วงดุล คสช. เลย มีเพียง 87 ฉบับ ที่เป็นการตั้งกระทู้ถาม ต่างจากยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่มีการตั้งกระทู้ถามกว่า 2,000 ครั้ง

"ยุทธศาสตร์ชาติ อาจเรียกได้ว่าก็คือยุทธศาสตร์ของคสช." ตัวแทนไอลอว์ กล่าว

ชี้ สนช. ครองเก้าอี้ผลประโยชน์ทับซ้อน ออกกฎไม่ยึดโยงประชาชน

ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงการทำงานของ สนช. ว่า โดยองค์ประกอบแล้วคือการแต่งตั้งจาก คสช. ซึ่งคือการมาทำหน้าที่ที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะพบว่าแต่ละคนที่มาทำหน้าที่ สนช. ล้วนมีงานประจำอยู่แล้ว 

เสวนาสภาแต่งตั้ง


นอกจากจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน หลายคนที่เป็นสมาชิกก็ไม่มีวินัย ยกตัวอย่างเช่น การขาดประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า สะท้อนการขาดวินัยจองสภาแต่งตั้งนี้

"สภาแต่งตั้งนี้ ถือเป็นความน่าผิดหวัง ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและการช่วยเหลือพวกพ้อง" สฤณี กล่าว

ส่วนปัญหาของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น สฤณี ระบุว่า ประชาชนแทบไม่รู้ว่ามีกฎหมายดิจิทัล ถือว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนขาดหายไป ล่าสุด มีการระบุในเนื้อหาเรื่องการบิดเบือน คือความไม่ชอบมาพากล และเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเป็นในสังคมนี้ ขณะที่กฎหมายหลายข้อที่ออกมาของ สนช. ยิ่งสะท้อนไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงประชาชนเลย 

"มันไม่มีหลักประกันเลยว่า ความเห็นที่เราพิมพ์เข้าไปจะถูกรับฟัง" สฤณี กล่าว

ทั้งนี้ไม่มีกฎหมายใดในยุค คสช. มีความน่ากังวลในกฎหมายดิจิทัล คือมีช่องว่างในการเอื้อประโยชน์ให้ทับซ้อน