ไม่พบผลการค้นหา
จับตามหากาพย์เหมืองทองอัครา จิราพรเปิดเอกสารคิงส์เกต ระบุเลื่อนคำชี้ขาดข้อพิพาทกับรัฐบาลไทยเป็น 31 ม.ค.65 ส.ส.เพื่อไทยหลายคนกังวลมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อื่น สร้างความเสียหาย ราวกับแพ้คดีอยู่ดี

31 ต.ค. จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กโชว์เอกสารจากบริษัทคิงส์เกตที่ระบุว่าคำชี้ขาดกรณีพิพาทกับรัฐบาลไทยนั้นจะเลื่อนจาก 31 ต.ค.2564 ไปเป็น 31 ม.ค.2565 และระหว่างนี้กำลังเตรียมการเปิดเหมืองทองคำชาตรี

“เลื่อนบ่อยขนาดนี้ แถมรัฐบาลไทยปิดลับสุดยอด คนไทยต้องติดตามความคืบหน้าจากฝ่ายคิงส์เกตตลอด รัฐบาลกำลังมีการเจรจาแลกเปลี่ยนอะไรที่ไม่อยากให้ประชาชนรับทราบหรือเปล่า?” จิราพรโพสต์

จดหมายคิงส์เกต
  • ภาพจากเฟซบุ๊ก จิราพร สินธุไพร

สำหรับข้อพิพาทนี้เกิดขึ้นช่วงที่โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในยุค คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 72/2559 ระงับการทำเหมืองทองคำชาตรีครอบคลุมบนพื้นที่ 3 จังหวัด (พิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 หลังจากชุมชนรอบเหมืองได้รับผลกระทบจากการรั่วซึมของบ่อเก็บกากแร่ที่คาดว่าทำให้สารไซยาไนไหลปนเปื้อนมายังชุมชนจนทำให้ชาวบ้านมีอาการป่วย บริษัทคอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด สัญชาติออสเตรเลียจึงยื่นฟ้องรัฐบาลไทยว่าดำเนินการโดยไม่ชอบและละเมิดข้อตกลงว่าด้วยการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จากนั้นได้มีการนำประเด็นพิพาทเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2560 ซึ่งก่อนจะเข้ากระบวนการไต่สวนบริษัทคิงส์เกตเรียกค่าเสียหาย 22,500 ล้านบาท การไต่สวนมีขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ช่วงวันที่ 3-12 ก.พ.2563

 “การตัดตอนโดยใช้ ม.44 เรามองว่าเป็นการเร่งด่วนตัดสินใจเกินไป เป็นกฎหมายป่าเถื่อนที่ไม่ได้ผ่านรัฐสภา จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา จริงๆ แล้วมันมีกลไกตามกฎหมายปกติที่สามารถเข้าไปบริหารจัดการดูแลในเรื่องนี้ ถ้ามีพยานหลักฐานดีๆ เก็บข้อมูล มีหลักฐานที่ชัดเจน ดีไม่ดีอาจจะเป็นประเทศไทยที่ต้องฟ้องบริษัทคิงส์เกตเสียด้วยซ้ำ ไม่ใช่บริษัทคิงส์เกตที่เป็นฝ่ายมาฟ้องเรา” จิราพรกล่าวทั้งยังตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่าข้อต่อรองที่รัฐนำไปเสนอกับบริษัทคิงส์เกตนั้นเป็นข้อเสนอที่เกินกว่าเหตุหรือไม่ เช่น กรณีที่ดิน 4 แสนไร่ที่รัฐบาลอนุญาตให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เข้าไปสำรวจพื้นที่ทำเหมือง ซึ่งไม่รวมถึงกรณีการออกอาชญาบัตรสำรวจเหมืองทองในแก่บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทอัครารีซอร์สเซส ซึ่งได้รับการต่อต้านอย่างมากจากประชาชนในพื้นที่ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี 

“สิ่งที่รัฐบาลทำคือการใช้ ม.44 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ต่างชาติไม่ยอมรับ โอกาสจะแพ้ก็ค่อนข้างสูงมาก หรือถ้าไม่แพ้ แต่เป็นไปตามที่ทางคิงส์เกตมีแถลงการณ์ออกมาล่าสุดที่ระบุว่ากำลังเจรจาแลกเปลี่ยนในหลายๆ ประเด็น ทั้งการคืนเหมืองทองคำชาตรีที่ปิดไปให้กลับไปดำเนินการได้ หรือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้เข้าไปสำรวจแล้วก็พื้นที่ที่จะให้ทำเหมืองแร่รวมเกือบประมาณ 1 ล้านไร่ เรารู้สึกว่านี่คือการแพ้คดีรูปแบบหนึ่งแล้ว” จิราพรกล่าว

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย เคยแถลงแสดงความกังวลก่อนหน้านี้ไม่นานว่า บริษัท คิงส์เกตยื่นถ้อยแถลงต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลียเมื่อ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา มีใจความสำคัญชี้ให้เห็นแนวโน้มข้อยุติในลักษณะที่ว่า 1.ข้อเสนอของคิงส์เกตจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลไทยทุกข้อโดยไม่มีข้อจำกัด ได้รับการอนุญาตทำเหมือนได้ใหม่ทั้งหมด 2. ได้รับทำเหมืองในพื้นที่ใหม่เพิ่มเติมนอกจากเหมืองทองชาตรีที่มีอยู่ 3,900 ไร่ 3. คิงส์เกตมีความมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์จากรัฐบาลไทย มีนักลงทุนจากไทยไปร่วม และการดำเนินการครั้งใหม่จะได้รับค่าช่วยเหลือค่าภาคหลวงและภาษีต่างๆ รวมถึงกระบวนการอนุมัติจะดำเนินการโดยเร็ว

ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) โดยเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่จังหวัดจันทบุรีได้รับจดทะเบียนคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด บริษัทในเครือของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส เจ้าของสัมปทานเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัทคิงส์เกตที่กำลังมีข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย โดยการรับจดทะเบียนอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ 2 คำขอ (8/2549-9/2549) เนื้อที่ 14,650 ไร่ ตำบลพวากับตำบลสามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี โดย กพร.เห็นว่าการสำรวจแร่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อพื้นที่ การยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษเป็นการขอสิทธิในการสำรวจแร่ในพื้นที่ที่กำหนดและการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษจึงไม่ใช่การอนุญาตหรือการให้สิทธิในการครอบครองพื้นที่ ขณะที่วงการเหมืองแร่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การได้กลับมาสำรวจแร่ทองคำครั้งนี้จะมีผลโดยตรงต่อความเป็นไปได้ในการ ‘ยุติข้อพิพาท’ ระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงส์เกต ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการในขณะนี้

ประเด็นสำคัญตอนนี้ก็คือ ฝ่ายไทยตั้งโจทย์ไม่อยากถูกฟ้องบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหายจากคำสั่งของ คสช. ในขณะที่ทางคิงส์เกตยืนยันมาโดยตลอดว่า บริษัทอัคราฯ ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่มาโดยตลอดและยังไม่มีข้อยุติทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนในข้อกล่าวหาที่ว่ากระบวนการทำเหมืองก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นทางเดียวที่จะยุติข้อพิพาทเรื่องนี้ได้ก็คือ ทำอย่างไรจะให้บริษัทอัคราฯ สามารถกลับมาเปิดเหมืองทองคำชาตรีที่พิจิตรและขอประทานบัตรหรือขอต่ออายุประทานบัตรตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ฉบับใหม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว