ไม่พบผลการค้นหา
ชาวเมียนมาหนีความรุนแรงแห่ออกจากนครย่างกุ้ง ด้านอินเดียเผยชาวเมียนมาข้ามแดนลี้ภัยแล้วมากกว่า 1,000 คน

สภาพอันไม่ต่างจากสงครามกลางเมืองในนครย่างกุ้ง ส่งผลให้ถนนสายหลักทางเหนือที่มุ่งหน้าออกจากเมือง ต่างเต็มไปด้วยยานพาหนะพร้อมมีชาวเมียนมาต่างขนข้าวของบรรทุกใส่ท้ายรถเพื่อเดินทางทิ้งแหล่งทำมาหากินกลับไปยังบ้านเกิดในชนบทหนีความรุนแรงจากการปราบปรามของรัฐ 

ชาวเมียนมารายหนึ่งเปิดเผยกับเอเอฟพีว่า ตนได้ร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเช่นกัน แต่ด้วยความรุนแรงในพื้นที่นครย่างกุ้งซึ่งกองทัพประกาศเป็นพื้นที่บังคับใช้กฎอัยการศึก ส่งผลให้มีการปราบปรามรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตรายวัน จึงรู้สึกไม่ปลอดภัยและขออพยพออกจากพื้นที่แล้ว เช่นเดียวกับชาวเมียนมาอีกหลายคนที่เลือกเดินทางออกจากเมืองใหญ่ของประเทศ

ชายวัย 29 ปี ซึ่งประกอบอาชีพช่างทองในย่างกุ้งเผยว่า เหตุที่ตัดสินใจออกจากเมืองเพราะรู้สึกกังวลเกินกว่าจะอยู่ต่อเนื่องจากความรุนแรงในเมือง จึงเลือกกลับบ้านเกิดเพราะรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่หญิงอีกรายซึ่งซื้อตั๋วรถโดยสารเตรียมออกจากเมืองภายในไม่กี่วันข้างหน้าเผยว่า รู้สึกกังวลที่สถานการณ์ข้างหน้าจะเลวร้ายลง เพราะบรรยากาศในเมืองใหญ่ดึงเครียดมาก ประชาชนตายและถูกจับรายวัน

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐประหารได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่นครย่างกุ้งรวมถึงเขตปริมณฑลใกล้เคียง เป็นเหตุให้ประชาชนเกือบ 2 ล้านคนตกอยู่ในสภาพการควบคุมอย่างเข้มงวด หลายคนไม่มีทางเลือกจึงต้องอพยพออกจากเมือง โดยบางพื้นที่ของเมืองมีสภาพไม่ต่างจากสนามรบ มีเสียงปืนและกลุ่มควันจากความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะ

พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ซึ่งมีพรมแดนติดกับเมียนมาเผยกับเอเอฟพีว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับผู้อพยพชาวเมียนมาที่จะลี้ภัยมาฝั่งไทยแล้ว มีการเตรียมที่พักที่สามารถรองรับผู้อพยพได้ราว 30,000 ถึง 50,000 คน แต่ขณะนี้ยังไม่มีชาวเมียนมาที่อพยพข้ามแดนมายังฝั่งไทย

เมียนมา-อินเดีย

อีกด้านหนึ่งที่อินเดีย ศรี เค วันลัลเวนา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัฐมิโซรัมทางตะวันออกเฉียงเหนือเผยกับรอยเตอร์ว่า นับตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. ซึ่งกองทัพเริ่มใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน มีชาวเมียนมาอพยพลี้ภัยเข้ามาในอินเดียแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ราย โดยทางการท้องถิ่นเชื่อว่าตัวเลขเหล่านี้จะสูงขึ้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงานท้องถิ่นสร้างศูนย์อพยพชั่วคราวที่ติดกับชายแดน เพื่อรองรับผู้อพยพจากเพื่อนบ้าน

สำหรับรัฐมิโซรัม ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า นอกจากประชาชนชาวเมียนมาแล้ว ยังมีบรรดาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจเมียนมานับร้อยคน ที่เป็นกบฏไม่ยอมทำตามคำสั่งอันไร้มนุษยธรรม ทิ้งบ้านเกิดทิ้งครอบครัวลี้ภัยมายังอินเดียเนื่องจากหวั่นเกรงการถูกลงโทษจากกองทัพ


"ผู้ก่อการร้ายในเครื่องแบบ" 

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา (AAPP) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เหตุรัฐประหาร มีประชาชนผู้บริสุทธิ์สังเวยชีวิตให้กับความรุนแรงของกองทัพไปแล้วไม่น้อยกว่า 232 ราย จากการที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าปราบปรามผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่มีเพียงมือเปล่า ด้วยการใช้อาวุธสงครามรวมไปถึงกระสุนจริง รวมถึงมีนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมแล้วถึง 2,258 คน

AAPP ซึ่งมีสำนักงานที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ยอมรับว่าการตรวจสอบข้อมูลจากเมียนมาทำได้ยากยิ่งขึ้น หลังกองทัพสั่งตัดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบริเวณด่านท่าขี้เหล็ก รวมถึงจำกัดการให้บริการอินเทอร์เน็ตเนื่องจากหวั่นเกรงผู้ประท้วงใช้เป็นช่องทางเคลื่อนไหวต่อต้าน

แม้ทหารจะใช้ความรุนแรงปราบผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่อง จนมีรายงานผู้เสียชีวิตรายวัน แต่ชาวเมียนมายังคงออกมาเคลื่อนไหวเดินขบวนต่อต้านกองทัพในหลายเมือง แม้มีจำนวนน้อยลงเนื่องจากการติดต่อสื่อสารที่ถูกสกัดกั้น โดยมีรายงานด้วยว่าในพื้นที่ซึ่งกองทัพใช้กฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้กำลังรุนแรงเข้าจับกุม

ที่เมืองอองบานกองกำลังตำรวจและทหารเมียนมาใช้แก๊สน้ำตาขับไล่ผู้ประท้วงที่พยายามเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางถนน ก่อนที่จากนั้นจะเปิดฉากยิงประชนจนมีรายงานผู้เสียชีวิต 8 ราย

ด้านผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชาวเมียนมาหลายรายต่างเผยแพร่ภาพและคลิปวิดีโอที่ใช้คำว่า "ผู้ก่อการร้าย" ซึ่งหมายถึง เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงทหาร-ตำรวจ ขณะกำลังใช้ความรุนแรงเข้าปล้นสะดม ร้านค้าและบ้านเรือนของประชาชนในนครย่างกุ้ง เจ้าหน้าที่บางรายทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวจนได้รับบาดเจ็บ ชาวเมียนมาจึงเปรียบเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเหล่านี้ว่าไม่ต่างจากผู้ก่อการร้ายในเครื่องแบบ