ไม่พบผลการค้นหา
การจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญหนุนตั้ง ส.ส.ร. 'คุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยัน' ทางออกเดียวคือแก้ รธน. ไม่ใช่ รบ.แห่งชาติ ด้าน อ.โคทม ซัด ร่างแก้ ม.256 ของรัฐบาลมีกับดักทำไม่ได้จริง

ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ร่วมกับ สถาบันสร้างไทย จัดสัมมนาเรื่อง “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือทางออกประเทศไทย” ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อาคารสำนักงาน (ด้านหลัง) อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ซ.ดำเนินกลางใต้ แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2563

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ประธานคณะกรรมการบริหารภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กล่าวเปิดการสัมมนาว่า จากสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน มีความเสี่ยงนำไปสู่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์ในการโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ ส.ว.กลับไม่ยอมโหวต ทั้งนี้ หากรัฐสภายอมรับหลักการวาระแรก เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) นำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังย้ำด้วยว่าการแก้รัฐธรรมนูญคือทางออกประเทศ ที่มีจุดยืนประชาธิปไตย ที่มั่นคง โดยตนไม่ต้องการเห็นเยาวชนถูกคุกคาม ยัดเยียดข้อกล่าวหา ทั่งที่ทำเพื่ออนาคตตัวเองและเพื่อประเทศชาติในการเรียกร้อง ประชาธิปไตยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยสันติวิธีที่จะต้องใช้ความอดทน อดกลั้นให้ถึงที่สุด

ส่วนผู้เข้าร่วมการสัมมนามีทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และนักกฎหมาย ประกอบด้วย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย 'พงศ์เทพ เทพกาญจนา' อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (พ.ศ.2540) 'โภคิน พลกุล' อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานรัฐสภา 'วัฒนา เมืองสุข' อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 'โคทม อารียา' ประธานภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย 'พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย' อาจารย์ภาคกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และ 'ยิ่งชีพ อัชฌานนท์' ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

โภคิน

'โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวในงานว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งแต่ถ้าชนะการเลือกตั้งได้ ก็บริหารประเทศไม่ได้ เพราะองค์กรอิสระต่างๆ ก็พร้อมที่จะยัดคดีให้ และมีการวางบทเฉพาะกาลเพื่อที่จะอยู่ต่อไป นี่คือประเด็นใหญ่ที่สุด ดังนั้นประเทศจึงเดินไม่ได้ ผลของการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ทางเดียวที่จะเป็นทางออกในขณะนี้ ต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน

"วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกปัญหาจะต้องจบที่ประชาชนโดยจะต้องมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกับในปี 2539 โดยสิ่งที่เสนอก็คือ ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน โดยเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และยกร่าง แต่ไม่มีการแตะต้องหมวด 1-2 จึงอยากเชิญชวนทุกฝ่ายผลักดันให้เกิดการตั้ง ส.ส.ร.และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ และเชื่อว่าไม่มีใครไปบังคับ ส.ส.ร.ได้ และ ส.ส.ร.เองก็ไม่มีทางที่จะร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นเผด็จการแน่นอน"

ด้าน 'ยิ่งชีพ อัชฌานนท์' ผู้จัดการโครงการกฎหมายอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า กลุ่มไอลอว์ได้จัดทำโครงการเพื่อต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีการเข้าชื่อของประชาชน กว่าแสนรายชื่อ และนำร่างไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร แสดงให้เห็นว่าประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบบที่ไม่ปกติได้ตระหนักรู้แล้วว่า ระบบการเมืองที่ไม่ปกติเป็นอย่างไรและได้ใช้ทุกช่องทางที่สามารถทำได้เพื่อเรียกร้องให้ได้มาซึ่งระบอบการเมืองที่ปกติซึ่งเป็นสิ่งพื้นฐาน

iLaw ไอลอว์ ยิ่งชีพ รัฐธรรมนูญ

ยิ่งชีพระบุว่า นี่เป็นข้อเสนอที่เห็นต่างยาก และเป็นข้อเสนอที่ตัวแทนประชาชนที่อยู่ในสภาไม่สามารถปฏิเสธได้และไม่มีเหตุผลต้องปฏิเสธ เพราะเป็นเนื้อหาที่ไม่สามารถหาเหตุผลในการปฏิเสธได้ และข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ประนีประนอมที่สุด เพื่อหาทางออกตามระบบทางกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งหากคนที่อยู่ในสภาโหวตไม่รับก็ควรที่จะต้องอับอายต่อตัวเองและประชาชน

"หากมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตไม่รับก็จะทำให้ประชาชนโกรธเคืองมากขึ้น และถ้ามีการโหวตไม่รับก็ต้องรับผิดชอบด้วย หากมีปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่มาจากความโกรธของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและตัดสินใจกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง"

ส่วน 'นิกร จำนง' เล่าถึงเหตุการณ์ ประชุมรัฐสภาที่เลื่อนการลงมติ 6 ญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ท่าทีของ ส.ว.ยังไม่ยอมรับในการแก้ไข และการศึกษาที่ผ่านมา ส.ว.ไม่ได้ร่วมด้วย เป็นเหตุให้ ส.ว.กังวลเรื่องการตีเช็คเปล่าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปัญหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนางดออกเสียงเว้นรัฐมนตรีของพรรค 2 คน 

นิกร จำนง

โดยส่วนตัว นิกรยังเชื่อว่าร้อยละ 80 ญัตติที่ 1 และ 2 ของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลมรการแก้มาตรา 256 และตั้ง ส.ส.ร. และย้ำว่าในวาระรับหลักการพรรคร่วมรัฐบาลจะลงมติรับหลักการร่างของตัวเอง โดยการตั้งกรรมาธิการวิสามัญ 2 สภาจะพิจารณาญัตติแล้วเสร็จ 20 กันยายนนี้

ขณะที่ 'คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นเผด็จการภายใต้เสื้อคลุมประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงพิธีกรรม มีกติกาคำนวณ ส.ส. ที่ทำให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบ ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน ส่วนตัวมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือทางออกความขัดแย้งอย่างสันติ ไม่ใช่มาตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อยื้อเวลา หรือจะแก้ด้วยวิธีรัฐประหารอีกซึ่งเราไม่เห็นด้วย 

ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนต้องเขียนด้วยประชาชน โดยการตั้ง ส.ส.ร. ตามที่ฝ่ายค้านเสนอ พร้อมให้แก้ไขเงื่อนไขเฉพาะกิจเป็นทางออกระหว่าง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญ คือการแก้ตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ และปิดทางนายกฯ คนนอก เพราะหากนายกฯ ยุบสภากลางคันอาจเป็นปัญหาได้ถ้าไม่แก้ เงื่อนไขเฉพาะกิจตัดอำนาจ ส.ว. เสียก่อน ยืนยันว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นการเพื่อประชาชน

สุดารัตน์ adb101886545fd505_38137138_200929_4.jpg

ในช่วงท้ายของการพูดคุย คุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยันว่าไม่มีการเข้าไปร่วมรัฐบาลแห่งชาติตามที่มีกระแสข่าวแน่นอน เพราะที่ผ่านมาได้ มีการพูดคุยกันภายในที่ประชุมกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยหลายครั้ง ถือว่าเป็นไปไม่ได้ ขอให้ปิดประตูเรื่องนี้ไปเลย 

ส่วนกระแสข่าวการต่อรองทางลับให้คนในตระกูลชินวัตรมานั่งบริหารพรรคและกลับมาเป็นรัฐบาลแห่งชาตินั้น ก็ไม่มี มีเพียงข่าวลือ และตนไม่ทราบว่าข่าวมาจากไหน ยืนยันว่าไม่มีการเข้ามาครอบงำภายในพรรค

หากจะมีรัฐบาลแห่งชาติ ก็ต้องเป็นชาติหน้า

ทางด้าน 'รศ.โคทม อารียา' กล่าวว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่มีความชอบธรรม เพราะความต้องการอยู่ต่อในอำนาจของ คสช. โดยอ้างความต้องการของประชาชน ทั้งที่ความต้องการของประชาชนจริงๆ ต้องวัดกันจากผลการเลือกตั้งฝ่ายใต้กติกาที่เป็นธรรม ไม่ใช่มาวางกติกาเข้าข้างตัวเองและอ้างเองว่าประชาชนต้องการ พร้อมมองว่าเงื่อนไขตั้ง ส.ส.ร. แก้มาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาลทำได้ยาก เพราะกำหนดใช้เสียง 3 ใน 5 ในการลงมติ หาก ส.ว. ไม่เห็นชอบเรื่องใด ส.ว. 250 สามารถร่วมกับ ส.ส. 45 คน ก็ไม่สามารถแก้ไขในบางประเด็นได้แล้วโดยเฉพาะ อำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ ต่างจากร่างของพรรคฝ่ายค้าน กำหนดให้ลงมติใช้เสียง เกินครึ่งของรัฐสภา คือ 370 เสียงก็สามารถลงมติได้ง่ายตามปกติที่เคยปฏิบัติมา 

โคทม อารียา รัฐธรรมนูญ 108_0018.jpg

นอกจากนี้ ในร่างของรัฐบาลยังไม่ยอมตัดเงื่อนไขที่ห้ามแตะต้องคุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกรรมการในองค์กรอิสระ ทั้งที่การแก้ไขครั้งนี้ต้องไปปรับแก้ส่วนนั้นอยู่แล้ว หากยังคงเงื่อนไขนี้ไว้ยิ่งทำให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากอีก

ส่วน 'พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย' ย้ำถึงเหตุผลที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญว่า ถ้าการเมืองดี ระบบทุกอย่าง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ก็จะดีตาม ซึ่งการเมืองจะดีหรือไม่นั้น ก็มาจากการกำหนดโครงสร้างโดยรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบบกฎหมายของไทยมีปัญหาอย่างมาก ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตในสังคมไทย จนนำไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น 

พรสันต์--เลี้ยงบุญเลิศชัย.jpg

ส่วนการตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจากการทำประชามติแล้ว รวมถึง ส.ว.250 คน ก็มาจากคำถามพ่วงนั้น พรสันต์ชี้แจงว่า การทำประชามติ ต้องอยู่บนความเสมอภาค เสรี และให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน และตัดสินใจเองว่าจะรับหรือไม่ แต่หากประชาชนไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน แสดงว่าการลงประชามตินั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่คำถามพ่วงในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเขียนอย่างกำกวม และเป็นปัญหาสะสม จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่ของประชาชน

ขณะที่ 'วัฒนา เมืองสุข' มองว่า เรายังไม่เป็นประชาธิปไตย และเมื่อไม่ใช่ประชาธิปไตย นักลงทุนต่างชาติก็ไม่เชื่อมั่น การลงทุนก็จะหยุดนิ่ง นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ เพราะปัญหาการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจที่มีความสอดรับกันอยู่แล้ว หากการเมืองไม่ดี ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน จะเห็นได้จากการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

วัฒนา เมืองสุข เพื่อไทย 19.jpg

"ปีนี้ก็มีโรงงานจำนวนมากปิดตัวลงเพราะต้องการย้ายการผลิต ซึ่งแน่นอนว่า ปัญหาดังกล่าว เกิดจากรัฐธรรมนูญที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง ดังนั้น สิ่งที่ต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด คือ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ และปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจทันที เพราะไทยไม่มีเงินลงทุน แถมยังมีรัฐราชการที่เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้ภาคธุรกิจลดลง ไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุน"

วัฒนากล่าวว่าตนอยากให้มีการแก้ไขแก้รัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด เพราะไม่ว่าเลือกตั้งกี่ครั้ง ก็จะได้คนเดิม คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับเข้ามาบริหารประเทศ หากวันนี้ยังไม่แก้รัฐธรรมนูญ

หลังจากนั้นได้มีการถาม-ตอบ ซึ่งประชาชนและนักศึกษาถามถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อจากแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ โดย 'นิกร' ชี้ว่าบางพรรคร่วมรัฐบาลไม่แตะหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ส่วน 'ยิ่งชีพ' กล่าวว่าอยู่ที่กลไกการแก้ไขของรัฐสภาว่าเปิดช่องทำได้หรือไม่ และไม่ทราบถึงฉันทามติของสังคมในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จึงตอบยาก แต่เห็นว่าเรื่องนี้คนสนใจและต้องการถกเถียงบนหลักการ หากมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องพูดได้ทุกเรื่อง

ขณะที่ร่างของประชาชนไม่มีการเสนอแก้หมวด 1-2 และชี้แนะว่าหากใครต้องการแก้หรือไม่แก้หมวด 1 -2 ว่าด้วยหมวดพระมหากษัรติย์ ก็ให้ประกาศนโยบายและให้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.  

ส่วน 'รศ.โคทม' ขอร้องต่อนักเรียนนักศึกษาที่จะจัดการชุมนุมในวันที่ 14 ต.ค.2563 ให้เน้นเรียกร้องเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและหยุดคุกคามประชาชน หากเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อจะทำให้การข้อเรียกร้องขาดความคมชัด และยังแนะให้ไปศึกษามาตรา 6 ที่อ้างว่าบัญญัติในรัฐธรรมนูญทุกประเทศว่า "องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: