ไม่พบผลการค้นหา
'ลิซ่า มอนต์โกเมอรีย์' ผู้ต้องขังหญิงคนแรกรอบ 6 ทศวรรษ ที่ถูกตัดสินโทษในแดนประหารของรัฐบาลกลางอเมริกา

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ แถลงยืนยันดำเนินการประหารชีวิต 'ลิซา เอ็ม. มอนต์โกเมอรีย์' นักโทษหญิงคดีอุกฉกรรจ์ผู้เคยก่อเหตุฆาตกรรมที่รัฐมิสซูรีเมื่อปี 2547 ถือเป็นนักโทษหญิงคนแรกนับตั้งแต่ปี 2496 ที่ถูกเรือนจำของรัฐบาลกลางประหารชีวิต

แถลงการณ์ระบุว่า เมื่อ 13 ม.ค. เจ้าหน้าที่ทัณฑสถานแตร์เรโอต์ ในรัฐอินเดียนา หนึ่งในเรือนจำกลางของรัฐบาลวอชิงตัน ได้ดำเนินประหารชีวิตด้วยวิธีฉีดยาพิษต่อลิซ่า มอนต์โกเมอรีย์ ในข้อหาคดีฆาตกรรม บ็อบบี โจ. สตินเนตต์ หญิงตั้งครรภ์ วัย 23 ปี ด้วยการรัดคอเหยื่อก่อนผ่าท้องเพื่อขโมยทารกน้อยในครรภ์ แล้วปล่อยให้เหยื่อเสียเลือดจนสิ้นใจ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2547 ลิซ่า มอนต์โกเมอรีย์ ซึ่งอาศัยในรัฐแคนซัส ได้ใช้อุบายล่อลวงซื้อลูกสุนัขจาก บ็อบบี โจสตินเนตต์ หญิงตั้งครรภ์ 8 เดือน โดยมอนต์โกเมอร์รีย์ได้เดินทางไปยังบ้านของสตินเนตต์ซึ่งอยู่ในรัฐมิสซูรี เพื่อรับลูกสุนัข กระทั่งมอนต์โกเมอรีย์ได้ก่อเหตุทำร้ายร่างกายจนสตินเนตต์เสียชีวิตดังกล่าว ก่อนที่มอนต์โกเมอร์รีย์จะนำทารกกลับอ้างกับคนในครอบครัวว่าเป็นลูกของตนเอง 

ภายหลังมอนต์โกเมอรีย์ ถูกจับกุม ส่วนทารกที่ถูกขโมยนั้น ได้รับการดูแลจากสามีของสตินเนตต์ปัจจุบันมีอายุ 16 ปี

กระทรวงยุติธรรมยืนยันว่า คำสั่งประหารชีวิตของมอนโกเมอรีย์เป็นไปตามมติเอกฉันท์ของคณะลูกขุนใหญ่แห่งรัฐมิสซูรี เมื่อปี 2550 รวมทั้งคำเห็นชอบของศาลอุทธรณ์เขตตะวันตก และศาลฎีกาในกรุงวอชิงตันแล้ว แม้ว่าทนายของจำเลยและนักสิทธิมนุษยชนพยายามยกเหตุผลด้านปัญหาทางจิตขึ้นโต้แย้ง โดยอ้างว่าจำเลยตกอยู่ในสภาพทุกข์อย่างหนักจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศตั้งแต่วัยเยาว์ รวมถึงการที่ไม่สามารถมีบุตรให้กับครอบครัวได้ แต่ศาลก็ยืนยันคำตัดสินโทษประหารชีวิตดังกล่าว

มอนต์โกเมอรีย์ถือเป็นนักโทษรายที่ 11 ที่ถูกประหารชีวิตภายใต้คำสั่งของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นำโทษประหารชีวิตของรัฐบาลกลางกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาการสั่งลงโทษประหารชีวิตมักเป็นไปภายใต้คำสั่งของศาลท้องถิ่นแต่ละมลรัฐ 

อนึ่ง เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่ทัณฑสถานในรัฐอินเดียนาจะเริ่มกระบวนการประหารชีวิตด้วยการฉีดสารเคมี เจมส์ แฮนลอน ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 8 ประจำเขตใต้รัฐอินเดียนา ได้อนุมัติคำขอของทนายฝ่ายจำเลยให้ระงับกระบวนการประหารชั่วคราวว โดยกล่าวว่า ต้องมีการพิสูจน์สภาพร่างกายและจิตใจของนักโทษรายนี้ก่อน จากการที่ทนายของจำเลยอ้างว่าเธอมีความผิดปกติทางสมองตั้งแต่กำเนิด 

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้สำนักเรือนจำกลางดำเนินการประหารชีวิตต่อไป กระทั่งมอนต์โกเมอร์รีย์ได้รับการยืนยันว่าถูกประหารชีวิตแล้วเมื่อ 01.31 น. ตามเวลาท้องถิ่นฝั่งตะวันตก

ทั้งนี้ นักโทษหญิงคนสุดท้ายที่ถูกรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ประหารชีวิตคือ บอนนี เฮดดี ซึ่งถูกประหารด้วยการรมแก๊สพิษที่เรือนจำในรัฐมิสซูรี ในปี 2496 โดยภายหลังรัฐบาลวอชิงตันได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นเวลานาน 17 ปี กระทั่งประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในคำสั่งให้นำโทษประหารของรัฐบาลกลับมาใช้อีกครั้ง


แดนประหารของรัฐบาลทรัมป์

รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ใช้คำสั่งประหารชีวิตต่อนักโทษคดีต่างๆ มากกว่าจำนวนที่ทุกมลรัฐในอเมริกาสั่งประหารชีวิต โดยปี 2563 เพียงปีเดียวแม้จะมีสถานการณ์โควิดระบาด แต่รัฐบาลกลางวอชิงตันลงนามคำสั่งประหารชีวิตนักโทษแล้วถึง 10 ราย เทียบกับท้องถิ่นของทุกมลรัฐรวมกันที่ประหารชีวิตนักโทษไป 7 ราย

มีเพียงห้ารัฐ ได้แก่ แอละแบมา, จอร์เจีย, มิสซูรี, เทนเนสซี และเท็กซัสเท่านั้นที่ดำเนินการประหารชีวิตภายใต้กระบวนการยุติธรรม จำนวนนี้เพียงรัฐเท็กซัสเท่านั้น ที่ดำเนินการประหารมากกว่าหนึ่งครั้งในปีที่ผ่านมา แต่ยังถือว่าเป็นการลงโทษประหารชีวิตที่ต่ำที่สุดของเท็กซัสนับตั้งแต่ปี 2526

อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งประหารทั้ง 10 ครั้งของรัฐบาลทรัมป์จะยังไม่ใช่จำนวนมากที่สุดที่รัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีตเคยสั่งประหาร แต่เป็นการสั่งประหารในจำนวนมากสุดด้วยระยะเวลาเพียงปีเดียว

ที่มา : wgnradio , NBC , Time , Huffpost , Theguardian