ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.คาดเปิดประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทางภายในปลายปีนี้ ส่วนทางคู่เฟส 2 ยังรอสภาพัฒน์เคาะ ด้านสายสีแดง เปิดใช้เร็วสุดเดือน พ.ค.64 แต่ยังไม่สรุปผู้เดินรถ

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงินรวม 85,345 ล้านบาท และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท ขณะนี้ ร.ฟ.ท. อยู่ระหว่างร่างทีโออาร์ทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดประมูลได้ในเดือน ธ.ค.นี้  โดยทั้ง 2 โครงการจะแบ่งเป็นโครงการละ 3 สัญญา ซึ่งรวมงานโยธาและงานอาณัติสัญญาณไว้ด้วยกัน

ผู็ว่าการรถไฟพบสื่อ
  • นิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

ส่วนความคืบหน้ารถไฟทางคู่เฟสที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.สายปากน้ำโพ-เด่นชัย 2.สายเด่นชัย-เชียงใหม่ 3.สายขอนแก่น-หนองคาย 4.สายชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 5.สายชุมพร – สุราษฎร์ธานี 6.สายสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และ 7.สายชุมทางหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ ระยะทางรวม 1,483 กม. วงเงิน 272,219.14 ล้านบาท ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์  

ทั้งนี้ในส่วนโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ขณะนี้คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาการขอขยายงานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อออกไปอีก 500 วัน ซึ่งหากมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างการเปิดให้บริการน่าจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ค. 2564 ส่วนแนวทางการเดินรถ จะเป็นบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท.หรือ เปิดให้เอกชนร่วมทุน (PPP) คณะที่ปรึกษาอยู่ระหว่างสรุปรายละเอียด พร้อมกับการสรุปเปิดประมูลรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายอีก 3 ช่วง คือ ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลค่า 5,970 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มูลค่า 5,980 ล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา มูลค่า 9,670 ล้านบาท คาดชัดเจน 2-3 เดือนนี้

สถานีกลางบางซื่อ

ส่วนนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะที่พึ่งเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ คนใหม่ นายนิรุฒ กล่าวว่า ได้วางยุทธศาสตร์หลักไว้ 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1.การเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางราง เพิ่มการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 รวมถึงการเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 35 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้โดยสารเชิงสังคมจำนวน 20 ล้านคน และเป็นผู้โดยสารเชิงพาณิชย์จำนวน 10 ล้านคน รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีใหญ่ และแก้ปัญหาผู้บุกรุกวางแนวทางจัดระเบียบผู้เช่าให้มีมาตรฐานเดียวกัน

ด้านที่ 2. การเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งการรถไฟไม่สามารถหวังรายได้จากการเช่าที่ดินได้เพียงอย่างเดียว โดยจะเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน พัฒนาสร้างให้เกิดรายได้ บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างรายได้เสริมจากทรัพย์สินที่มีอยู่ ส่วนการลดค่าใช้จ่ายจะนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ บูรณาการข้อมูลช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้จากที่ดินกว่า 240,000 ไร่ ทั้งนี้จะมีการพิจารณาอัตราค่าเช่าใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชน โดยจะมีการจัดรูปแบบใหม่ภายในปีนี้ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการพิจารณาปรับเพิ่มอัตราค่าโดยสารรถไฟเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นด้วย

และด้านที่ 3 การขับเคลื่อนและการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการพัฒนาองค์กรจัดการเชื่อมโยงอย่างบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในการยกระดับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ เป็นวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยฯ ในอนาคต เพื่อการพัฒนาความรู้ ความสามารถของบุคลากรให้มีศักยภาพ