ไม่พบผลการค้นหา
ยุคทองของโลกาภิวัตน์ได้สิ้นสุดลงแล้ว และการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในการหมุนไปของเวทีโลกกำลังเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ คือคำพูดของ ลอว์เรนซ์ หว่องรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่ถูกคาดการณ์ว่าจะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของสิงคโปร์ ถึงสถานการณ์โลกในปัจจุบันนี้

หว่องกล่าวระหว่างการสนทนาในที่ประชุม Forbes Global CEO Conference ที่สิงคโปร์เมื่อคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 ก.ย.) ว่า แม้ประเทศต่างๆ จะยังไม่ถอยตัวออกจากการยึดถือลัทธิการกีดกันทางการค้า ภาคธุรกิจต่างๆ กำลังถูกส่งอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการปะทะกันทางความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

หว่องย้ำว่า สิงคโปร์และชาติอาเซียนทั้งหมด จะต้องถ่วงดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯ และจีน และภูมิภาคอาเซียนต้องให้ทั้ง 2 ประเทศมีส่วนร่วมกับภูมิภาคนี้ “ตามคุณค่าความผิดถูกของตน” มากกว่าที่จะมีความสัมพันธ์กันผ่านร่มแสงเงาสะท้อนของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

“เมื่อก่อนมันมีตรรกะที่ว่า ประเทศต่างๆ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพื่อนกันเพื่อการทำธุรกิจร่วมกัน อันที่จริงแล้ว ความหวังคือ ยิ่งเราค้าขายและลงทุนซึ่งกันและกันมากขึ้น เราจะลดการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ลง” หว่องกล่าวถึงแนวทางในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในช่วงเวลานี้ 

“จำทฤษฎีของแมคโดนัลด์ได้ไหมว่า ที่ๆ มีแมคโดนัลด์ตั้งอยู่ จะไม่มีสงคราม นั่นแหละ นั่นคือประวัติศาสตร์และจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” หว่องกล่าวถึงสัญลักษณ์การเปิดแมคโดนัลด์ในอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของจุดจบสงครามเย็น จากสัญลักษณ์ทุนนิยมสหรัฐฯ อย่างแมคโดนัลด์ บนแผ่นดินสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างโซเวียต ก่อนที่ในปัจจุบัน แมคโดนัลด์จะได้ทำการถอนตัวออกจากรัสเซีย เนื่องจากปัญหาสงครามยูเครน

“ตอนนี้ก็มีตรรกะที่ต่างออกไป… ยุคทองของโลกาภิวัตน์ที่เราประสบมาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นได้สิ้นสุดลงไปแล้วอย่างชัดเจน และเรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคใหม่ที่จะถูกบันทึกเอาไว้ในภาพของแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มากขึ้น” หว่องระบุ ก่อนจะย้ำเตือนว่า หากแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์เหล่านั้นกลายเป็นเรื่องปกติไป โลกจะเป็นอันตรายและแตกหักมากขึ้น

อย่างไรก็ดี หว่องย้ำว่าสิงคโปร์จะยังคงทำงานร่วมกับทั้งสหรัฐฯ และจีนต่อไปโดยไม่เลือกฝั่ง หว่องกล่าว เสริมว่า การหารือกันที่อาจเป็นไปได้ระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ จะเป็นการส่งความมั่นใจต่อโลกได้ “ด้วยความสามารถในการมาพบปะกันแบบตัวต่อตัว มันจะสามารถสร้างวิธีการใหม่ระหว่างทั้ง 2 ประเทศ โดยจะมีการตระหนักว่าจริงๆ แล้ว โลกนี้ใหญ่พอสำหรับจีนและสหรัฐฯ และทั้ง 2 ประเทศไม่จำเป็นต้องกำหนดนิยามความสัมพันธ์ของพวกเขาในแง่ที่เป็นปฏิปักษ์กัน” หว่องกล่าว

อย่างไรก็ดี หว่องเตือนถึงผลกระทบที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจมี ต่อการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ และจีน “และหากมันไม่มีความสามารถในการเชื่อมต่อและการสื่อสารระหว่างบุคคล มันง่ายมากที่จะพรรณนาให้อีกฝ่ายเป็นพวกคนเลว ส่วนเรานั้นเป็นคนดี และทั้ง 2 ฝ่ายก็ต่างทำเช่นนั้น” หว่องกล่าวเสริมว่า “และคุณได้มีคนรุ่นหนึ่งเติบโตมากับคิดแบบนั้น แล้วอะไรจะเกิดขึ้นอีก 50 ปีต่อจากนี้ 30 ปีต่อจากนี้ ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่เราควรกังวล”

ผู้นำธุรกิจที่เข้าร่วมการอภิปรายในที่ประชุม  Forbes Global CEO Conference เห็นพ้องกันว่าความแตกแยกที่กว้างขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนไม่เป็นผลดีต่อภาคธุรกิจ “มองจากอีกด้านของกระจก จีนเพิ่งผ่านภาวะตกตะลึงในอเมริกา” เซี่ยชิงไฮ่ ประธานร่วมของ Value Partners Group บริษัทจัดการกองทุนที่จดทะเบียนในฮ่องกง กล่าวระหว่างการประชุม

“คนจีนรุ่นเกิดใหม่อาจจะเป็นคนรุ่นสุดท้าย หลายคนมีอุดมคติของอเมริกาและวิถีชีวิตแบบอเมริกัน เป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับชาวจีนในเวลานี้ ที่ถูกสหรัฐฯ ปฏิเสธ และถูกแบ่งแยกเชื้อชาติ พวกเขามีความผิดหวังจากความจริงมากมาย มีความคิดว่า 'เราจะทำอย่างไรต่อไปดี' เกิดขึ้นมากมาย” แม้ว่าการปะทะสังสรรค์กันในเชิงบวกไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่มี “การแข่งขันที่รุนแรง” ระหว่างทั้งสองประเทศ แต่การทำงานร่วมกันจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงประเด็นต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่หว่องกล่าว

อึ้งก๊กซง ประธานผู้ก่อตั้ง Avanda Investment Management อดีตหัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนที่ GIC ของสิงคโปร์กล่าวว่า สหรัฐฯ และจีนได้รับประโยชน์จากการมีความสัมพันธ์ทางการเงินซึ่งกันและกัน โดยผลการศึกษาหลายชิ้นของอึ้งเผยว่า มีบริษัทสหรัฐฯ ดัชนีเอสแอนด์พี 500 จำนวนมาก ที่ได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตของจีนทั้งในด้านรายได้และขนาดของบริษัท

จอห์น สตัดซินสกี รองประธานและกรรมการผู้จัดการของ Pimco บริษัทจัดการด้านการลงทุนของสหรัฐฯ กล่าวในที่ประชุมเดียวกันว่า จีนได้เปิดรับเงินทุนและสถาบันการเงินระหว่างประเทศเข้าสู่ตลาดของตนอย่างยินดี 

อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมได้มีการสอบถามหว่อง ถึงการสืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คต่อไป แทนที่ ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ที่แสดงท่าทีว่าจะวางมือจากอำนาจทางการเมืองประเทศ หว่องไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าวตรงๆ ก่อนที่จะระบุว่า ยังมีประเด็นเร่งด่วนรออยู่อีก เช่น ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีหน้า และภัยคุกคามของการกลายพันธุ์ใหม่จากการระบาดของโควิด-19


ที่มา:

https://www.cnbc.com/2022/09/27/the-golden-age-of-globalization-has-ended-singapores-lawrence-wong.html?__source=sharebar%7Cfacebook&par=sharebar&fbclid=IwAR3PLIRtJ9Ce-nVn6wEDIsTJUGzqrsHrIdeNwfa-dIy7oqQ5ZEvVrUIvfZc