อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กในประเด็นที่มีข้อสงสัยเรื่องศักยภาพในการให้บริการวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายปี 2564 โดยระบุว่า การจัดการและความมั่นคงด้านวัคซีน เดือน เม.ย. มีวัคซีนซิโนแวค 800,000 โดส ฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ตามนี้
ท่านที่ชอบถามว่า ทำไมฉีดได้น้อย ไม่ถึง 5 ล้านโดส 10 ล้านโดส ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงไว้ ขอได้โปรดเข้าใจด้วยว่า เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ฉีดได้ 2 แสนโดส เพราะมีวัคซีนซิโนแวค แค่ 2 แสนโดส และ แอซตร้าเซนเนก้า 1.17 แสนโดส ขณะนี้กำลังฉีดอยู่ เกือบจะหมดแล้ว
เดือนเม.ย. ก็จะฉีดได้ 8 แสนโดส เพราะมีวัคซีน เท่านี้
ขอยืนยันว่า ไม่มีวัคซีนตกค้าง จนหมดอายุ เพราะวัคซีนมีอายุ 6 เดือน
เดือนพ.ค. จะฉีดวัคซีน ซิโนแวค อีก 1 ล้านโดส
จากนั้น เดือน มิ.ย. จะเริ่มฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 5 ล้านโดส และเพิ่มเป็น 10 ล้านโดส ในเดือนถัดๆไป ตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับจากผู้ผลิต
อนุทิน ระบุว่า การจะฉีด 5 ล้านโดส ถึง 10 ล้านโดส เป็นศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุข ที่สามารถทำได้ ในกรณีที่มีวัคซีนมากพอ ด้วยกลไกของระบบสาธารณสุข ที่มีโรงพยาบาลเกือบ 2,000 แห่ง กระจายอยู่ทุกจังหวัด ทุกอำเภอของประเทศไทย และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. อีก 10,000 แห่ง ที่สามารถฉีดวัคซีน ได้ ในทุกตำบลของประเทศไทย
สำหรับวัคซีนอื่นๆ เช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ยังไม่มีให้บริการในประเทศไทย เพราะตัวแทนผู้ผลิตที่มาขึ้นทะเบียน ยังไม่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทย ส่วนโรงพยาบาลเอกชน ก็ยังไม่มีใครมาขอขึ้นทะเบียนวัคซีน เพื่อนำเข้ามาให้บริการ มีแต่การโฆษณาให้จองวัคซีน เท่านั้น
ขณะนี้ การฉีดวัคซีน จึงต้องดำเนินการโดยรัฐ ซึ่งสั่งซื้อวัคซีนมาให้บริการประชาชนแล้ว จำนวน 63 ล้านโดส และยังคงติดต่อขอซื้อเพิ่มเติม
เนื่องจากขณะนี้ วัคซีนผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศต่างๆ ที่ต้องใช้ การจัดซื้อวัคซีนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เหมือนสินค้าทั่วไป ที่มีวางขายในตลาด แต่ต้องแย่งกันซื้อ และอยู่ที่ความพึงพอใจของผู้ผลิตว่าจะขายให้ใคร
"การที่ประเทศไทย มีโรงงานผลิตวัคซีนอยู่ในประเทศ เป็นความมั่นคงด้านวัคซีน และสร้างความมั่นใจได้ว่า เราจะมีวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการใช้วัคซีนโควิด อย่างแน่นอน" อนุทิน ระบุ