ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ จี้ผู้ว่าฯ ทบทวนเวทีรับฟังความคิดเห็นโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล ชี้ชาวบ้านไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาแต่เริ่มต้น

ที่ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ตัวแทนกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ อ.ไพรบึง อ.ขุนหาญ ประมาณ 200 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นของโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ และเสนอให้ผู้ว่าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเมินศักยภาพของพื้นที่ให้ชัดเจน และแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 โรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ โดยมีนายทรงพล ใจกริ่ม รองผู้ว่าฯ รับหนังสือจากทางกลุ่มฯ และเปิดโต๊ะพูดคุย โดยมีอุตสาหกรรมจังหวัดศรีสะเกษ พลังงานจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมพูดคุย

S__11280407.jpg

นายทองแดง พิมูลชาติ อายุ 41 ปี กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า วันนี้พี่น้องกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ ประกอบด้วย บ้านตาจวน บ้านชำแระ บ้านหัวช้าง ตำบลสำโรงพลัน อำเภอไพรบึง บ้านโคกพยอม บ้านโพธิ์กระสังข์ ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 200 คน ได้เดินทางมาศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นของโรงงานน้ำตาลขนาด 20,000 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ ที่จัดผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง โดยชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมในรัศมี 5 กิโลเมตร ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารเลย ดังนั้นทางกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิดจังหวัดศรีสะเกษ จึงมีข้อเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ 

1.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษทบทวนเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้ง          

2.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินยุทธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเมินศักยภาพของพื้นที่ให้ชัดเจนโดยให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วม        

3.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านโดยชาวบ้านมองว่าคนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรที่อาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อน          

4.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหนังสือถึงบริษัทเพื่อให้ชะลอกระบวนการศึกษาไว้ก่อน 

ด้านนายเอกลักษณ์ โพธิสาร อายุ 34 ปี กรรมการกลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า กลุ่มสำนึกรักษ์บ้านเกิด จ.ศรีสะเกษ หลายหมู่บ้านที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ทางเรายืนยันที่จะคัดค้านเพื่อไม่ให้โรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตรอินทรีย์ พื้นที่ทำนา และพี่น้องจะออกมาปกป้องชุมชนร่วมกัน เนื่องจากพื้นที่เราไม่มีเกษตรกรที่จะปลูกอ้อยเลย โรงงานจะมาสร้างในพื้นที่บ้านเราได้อย่างไร ทั้งใกล้ชุมชน ขัดกับนโยบายจังหวัดและพื้นที่ ตลอดจนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาทั้ง 2 ครั้ง ชาวบ้านก็ไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อนเลย  

โดยมองว่าหน่วยงานราชการควรที่จะลงพื้นที่มาให้ข้อมูลข่าวสารกับชาวบ้านก่อนที่จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็น อย่างเช่น การมีส่วนร่วมในระดับให้ข้อมูลข่าวสาร ที่ภาครัฐจะทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูล ให้ภาคประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล การมีส่วนร่วมในระดับหารือ คือ ระดับที่ภาคประชาชนจะเป็นฝ่ายให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจของภาครัฐด้วยเป็นต้น 

ด้านนายทรงพล ใจกริ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ข้อเสนอที่ทางกลุ่มเรียกร้องมาทางจังหวัดพึ่งรับทราบและจะนำเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดต่อไป