สองวันให้หลังการยึดกรุงคาบูล โฆษกตาลีบันตั้งโต๊ะแถลงจุดยืนบริหารประเทศ โอบรับผู้คนในชาติ เปิดกว้างให้มีสิทธิและเสรีภาพ เสมือนเดินตามรอยบรรทัดฐานโลก ไม่ลืมแม้แต่จะตระหนักถึงความกังวลอย่างหนักของ 'เพศหญิง' ต่อความเสี่ยงในการสูญเสียโอกาสทางการศึกษาหรือแม้แต่การทำงาน
ทว่าสิทธิที่ 'ตาลีบัน' มอบให้ ย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายศาสนา และผู้ใดจะยืนยันได้ว่า "มีความแตกต่างมหาศาลระหว่างตัวเรา(ตาลีบัน)ในปัจจุบัน กับเราเมื่อ 20 ปีก่อน" เป็นความจริง
ช่วงหนึ่งของแถลงการณ์จากโฆษกตาลีบัน ระบุว่า "ประเด็นเรื่องผู้หญิงสำคัญมาก เอมิเรตอิสลามมุ่งมั่นที่จะมอบสิทธิสตรีภายใต้กรอบของกฎหมายชะรีอะฮ์ พี่สาวและพี่ชายของเรามีสิทธิเหมือนกัน พวกเขาจะได้ประโยชน์จากสิทธิของตนเอง พวกเขาสามารถทำกิจกรรมได้หลากหลายตามกฏและข้อบังคับพื้นฐานของเรา อาทิ การศึกษา, สุขภาพ และอื่น ๆ"
ไม่เพียงแค่สังคมโลกที่กังขา 'พัชตานา เดอรานี' นักเคลื่อนไหวสตรีชาวอัฟกัน วัย 23 ปี มองไม่ต่างกัน ในบทสัมภาษณ์กับรอยตอร์ส เมื่อวันที่ 17 ส.ค.เธอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าคงไม่อาจเชื่อถือคำพูดของตาลีบันได้ เพราะที่ผ่านมาคะแนนในการรักษาคำพูดของเหล่าผู้ติดอาวุธไม่ได้ดีเท่าไหร่
หากผู้ใดจะเชื่อในถ้อยคำการทูตอันสวยหรูเหล่านั้น (ซึ่งหนึ่งในองค์กรระหว่างประเทศที่เธอต้องการสื่อถึงคือองค์การยูนิเซฟที่ราวกลับเชื่อใจในคำพูดของตาลีบัน) อยากจะถามกลับไปว่า "ถ้าพวกเขาใส่ใจสิทธิสตรีจริง ก็คงไม่ห้ามเด็กผู้หญิงในเมืองฮารัตไม่ให้ไปมหาวิทยาลัย และไม่ห้ามผู้หญิงไม่ให้ทำงานในธนาคารอซิซีที่เมืองกันดะฮาร์ จริงไหม นี่มันคือเรื่องเล่าสองเรื่องที่ต่างกัน" เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วในอดีตอันใกล้ไม่ได้สอดคล้องกับถ้อยคำสวยหรูในงานแถลงข่าวแม้แต่น้อย
บทสัมภาษณ์ที่ไม่อาจเปิดเผยสถานที่พำนักของ 'พัชตานา' สะท้อนความรู้สึกไม่ปลอดภัยของเธอได้อย่างชัดเจน ถึงอย่างนั้น หญิงสาวยังคงยืนยันที่จะใช้เสียงของเธอต่อสู้เพื่อการศึกษาของเด็กผู้หญิงอีกมากในอัฟกานิสถาน อย่างน้อยที่สุด ก็เพื่อเด็กหญิงราว 7,000 คน ที่อยู่ภายใต้มูลนิธิขับเคลื่อนการศึกษาของเธอ
เนื่องจากไม่มีใครทำให้มั่นใจได้ว่า หากวันนี้ตาลีบันยอมให้เด็กผู้หญิงได้รับการศึกษา สามารถไปโรงเรียนได้ วันหน้าพวกเขาจะไม่เปลี่ยนใจ และถ้าการที่เด็กผู้หญิงต้องอยู่แต่บ้านกลับมาเป็นบรรทัดฐานทางสังคมอีกครั้ง การเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นเรื่องยาก
"การที่เด็กผู้หญิงได้เรียนหนังเป็นเรื่องสำคัญ และฉันจะไม่ยอมแพ้ต่อสิ่งนี้" พัชตานา ย้ำ
พัชตานา ชี้ว่าหากการที่เธอออกมาส่งเสียงเรียกร้องเรื่องการศึกษาของเพศหญิงไปขัดหูขัดตาตาลีบันและพวกเขาต้องการเล่นงานเธอ เธอก็พร้อมที่จะต่อสู้และยืนหยัดในจุดยืนนี้ทุกทางเช่นเดียวกัน
"ถ้าพวกตาลีบันจะเล่นงานฉันด้วยการสั่งห้ามไม่ให้เด็กผู้หญิงไปโรงเรียน ฉันจะไปมอบดาวเทียมให้เด็กเหล่านั้น พวกเธอจะได้มีอินเทอร์เน็ตฟรีใช้และฉันก็จะลงคลิปสอนหนังสือในเฟซบุ๊ก ถ้าพวกนั้นจำกัดเนื้อหาการสอน ฉันจะอัปโหลดหนังสือมากมายขึ้นห้องสมุดออนไลน์ ถ้าพวกนั้นจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ฉันจะส่งหนังสือไปตามบ้าน"
"ถ้าพวกนั้นกำจัดครูผู้สอน ฉันจะเริ่มโรงเรียนใต้ดิน ฉันมีคำตอบให้ทุกความพยายามของพวกนั้น ก็นะ...ก็ลองดู"
เธอกล่าวต่อไปว่า ตนเอง "ไม่อาจนั่งรอให้ 'ชายผิวขาว' อีกหนึ่งคนมาและช่วยชีวิตหญิงอัฟกันได้" อีกต่อไป ทั้งยังไม่คิดว่าหน้าที่ดังกล่าวเป็นของชายผิวขาวเหล่านั้น เพราะ "นี่คือประเทศของฉัน ฉันควรเป็นคนที่สื่อสารสิ่งนี้ออกมา ฉันต้องการยืนหยัดเพื่อเด็กหญิงในสังคมของฉัน เพื่อเด็กหญิงในมูลนิธิของฉัน ฉันต้องการยืนหยัดเพื่อสิทธิของพวกเขาซึ่งคือการศึกษาและสิทธิในการทำงาน สิ่งอื่นๆ สามารถเจรจากันภายหลังได้ ตอนนี้ เราพูดกับพวกตาลีบัน เราพยายามมองพวกนั้นให้ออก เรากดดันให้พวกนั้นแถลงการณ์ และเราก็ย้ายไปผลักดันเรื่องอื่น"
เธอปิดท้ายว่า แม้จะเต็มไปด้วยความฝันส่วนตัวที่อยากศึกษาต่อปริญญาโท แต่เธอก็ไม่อาจทิ้งอนาคตของชาติไว้ข้างหลังได้ เธอมองภาพตัวไม่ออกว่าจะไปใช้ชีวิตที่ประเทศอื่นอย่างไร และหากเธอต้องการทิ้งอัฟกานิสถานจริง ก็คงทำไปตั้งแต่ตอนที่ยังมีโอกาส แต่เธอก็เลือกจะสู้เพื่อการศึกษา
"ฉันรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเรา สำหรับคนรุ่นเราที่ต้องทำให้ได้ ต้องทำให้มันใจว่าอัฟกานิสถานมั่นคงยั่งยืน เพื่อที่ในวันพรุ่งนี้ คนรุ่นใหม่จะได้ไม่ต้องออกมาต่อสู้เพื่อที่ยืนของพวกเขา เพื่อสิทธิของพวกเขา"
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา โรงเรียนในฮารัต ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 3 ของอัฟกานิสถถานกลับมาเปิดเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากต้องปิดไปเป็นเวลานาน ทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 และความไม่แน่นอนทางการเมือง
'บาซิรา บาซิรัตกาห์' ผู้อำนวยการโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่งในเมืองฮารัต เผยว่า "เราต้องการขอบคุณผู้มีอำนาจที่ทรงเกียรติที่เปิดประตูทางการศึกษาให้ลูกหลานของเรา และเราหวังว่าประตูแห่งการศึกษานี้จะเปิดออกอยู่เสมอ"
ผู้คนจำนวนมากยังไม่ทิ้งความพยายามลี้ภัยไปต่างประเทศ และจนกว่า 'ตาลีบัน' จะพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาทำตามที่พูด ชาวอัฟกันอีกมากยังต้องอยู่ท่ามกลางความหวาดกลัวและน่านฟ้าที่แสงแห่งความหวังส่องมาไม่ถึง