บลูมเบิร์ก สื่อสหรัฐฯวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะย่ำแย่ที่สุดกว่าทุกประเทศในเอเชียแม้ว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศมานานกว่า 40 วันแล้วก็ตาม โดยมีปัจจัยจากภายในประเทศอย่างมาตรการต่างๆของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัจจัยภายนอกประเทศอย่างราคาทองคำและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก
ตามแถลงการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าในปีนี้ จีดีพีของประเทศจะติดลบถึง 8.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักทั่วเอเชียและเป็นตัวเลขที่ติดลบมากที่สุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์ค่าเงินในเอเชียเมื่อกว่า 20 ปีที่ผ่านมาก
'ดร.เกียรติพงษ์ อริยปรัชญา' นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำธนาคารโลก ประเทศไทยกล่าวว่า "ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว โดยมีอัตราส่วนเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีประเทศ ดังนั้นจึงสร้างผลกระทบใหญ่มากต่อจีดีพีประเทศ"
ด้านนักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจประเทศไทยจะติดลบถึง 6 เปอร์เซ็นต์มากกว่าทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจะฟื้นตัวอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ในปีค.ศ. 2021
บลูมเบิร์กชี้ว่า การประกาศภาวะฉุกเฉิน การเคอร์ฟิวในช่วงเวลากลางคืนและมาตรการปิดภาคธุกิจชั่วคราวทั่วประเทศ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นทำลายการบริโภคของภาคเอกชนและการลงทุนที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และแม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่ภาคการลงทุนอาจจะฟื้นคืนได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
การท่องเที่ยวที่ซบเซา
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องปิดพรมแดนในการเดินทาง โดยในช่วงไตรมาสที่สองเดือนพ.ค.เป็นเดือนที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้มีการคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเหลือเพียง 8 ล้านคน ซึ่งปริมาณเท่ากับ 1 ใน 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยเมื่อปีที่แล้ว
บลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่า แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศแต่ก็ไม่สามารถชดเชยรายได้ที่สูญเสียจากการแพร่ระบาดของโควิดได้ ซึ่งมูลค่าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยนั้นคิดเป็นอัตราส่วนถึง 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจไทย
ความผันผวนของราคาทอง
แม้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2020 ภาคการส่งออกของไทยจะเติบโตได้ดี โดยติดลบเพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นพบว่ามีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อช่วยลดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่สามารถขับเคลื่อนการส่งออกได้
ปัจจัยราคาทองคำที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้นักลงทุนภายในประเทศต่างเทขายทองคำเป็นจำนวนมาก และยังเป็นการกระตุ้นการส่งออกอีกทางหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตามการส่งออกที่เติบโตขึ้นนั้นไม่รวมถึงทองคำ หลังจากความต้องการทองคำทั่วโลกนั้นชะลอตัวลง และวงจรการซื้อขายทองคำถูกแทรกแซง
บาทแข็งค่า
นอกจากผลกระทบจากโควิดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแล้ว ‘ค่าเงินบาทแข็ง’ ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน
บลูมเบิร์กชี้ว่า ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเกือบ 6 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับอัตราค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และแม้ว่าในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย จนอยู่ในระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5 เปอร์เซ็นต์ แต่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสของรัฐบาลไทยทำให้เงินบาทยังแข็งค่าเช่นเดิม
ธนาคารแห่งประเทศไทยยังกังวลว่า ค่าเงินบาทที่แข็งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยากและยังเป็นอุปสรรคการส่งออกของภาคเอกชนไทยเช่นกัน
ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังออกมากล่าวว่า อาจจะต้องพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ค่าเงินบาทอ่อนลงหากจำเป็น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง