25 ก.พ. 2567 ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความเป็นผ่านทวิตเตอร์ (x) ระบุว่า ยินดีที่ได้มีโอกาสเยือนนครเบรเมิน และประทับใจกับการต้อนรับที่อบอุ่น ตนได้รับเกียรติให้มากล่าวปาฐกถาที่งานเลี้ยงของสมาคมเอเชียตะวันออกนครเบรเมิน และได้ย้ำในสองประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือ เยอรมนีและไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านประธานาธิบดีเยอรมนีได้กล่าวไว้เมื่อครั้งมาเยือนไทยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา และประเด็นที่สอง ท่านนายกจะเดินทางมากรุงเบอร์ลินในวันที่ 13 มีนาคมนี้ เพื่อย้ำว่า ประเทศไทยเปิดรับนักธุรกิจ และไม่มีเวลาใดที่จะเหมาะสมกับการลงทุนในไทยไปมากกว่ากว่าตอนนี้อีกแล้ว
ทั้งปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วย นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ เข้าร่วมงาน OAV Stiftungsfest (โออาฟัล สติฟธ่งเฟส ) ครั้งที่ 123 ณ ศาลาว่าการนครเบรเมิน ซึ่งจัดขึ้นโดย สมาคมเอเชียตะวันออกนครเบรเมิน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างนครเบรเมินกับภูมิภาคเอเชีย เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2567 เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของนครเบรเมิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง
โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมงานเลี้ยงรับรอง พร้อมกล่าวปาฐกถา โดยระบุว่า เรายินดีที่ความสัมพันธ์ไทย-เยอรมนี มีพัฒนาการอย่างมากในห้วงปีนี้ ซึ่งเห็นได้จากการเยือนของประธานาธิบดีเยอรมนีในห้วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา และกำหนดการเยือนเยอรมนีอย่างเป็นทางการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่จะเดินทางมาในเดือนมีนาคม
โอกาสนี้ จึงขอเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทย-เยอรมนี ใน 3 สาขาหลัก ประกอบด้วย 1.ความร่วมมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพื่อสานต่อคำกล่าวของประธานาธิบดีเยอรมนีในห้วงการเยือนไทยที่ได้กล่าวไว้ว่า “เยอรมนีและไทยกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ของความร่วมมือเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน” ซึ่งไทยตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค 2. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยไทยจะมุ่งผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ให้สำเร็จภายในปี 2568 และ 3. ความร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งด้านการศึกษาและด้านธุรกิจ เนื่องจากมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ