วันที่ 8 มิ.ย. 2565 สมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย นำโดย ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมชาวประมงฯ ล่องเรือประมงเป็นเวลา 13 วัน จาก จ.ปัตตานี ผ่านอ่าวไทย มาเทียบท่าที่ท่าเรือเกียกกาย อาคารรัฐสภา ตามปฏิบัติการทวงคืนน้ำพริกปลาทู หยุดจับ หยุดซื้อ หยุดขาย สัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน สู่การจัดการอาหารทะเลไทยอย่างยั่งยืน เนื่องในวันมหาสมุทรโลก 2565 เพื่อแก้วิกฤตทรัพยากรประมง
"มาตรา 57 แห่ง พ.ร.ก.การประมงฯ ตลอด 7 ปีเต็ม นำความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า มาตรานี้คือทางรอดของทะเลไทย ของอาชีพประมง รักษาไว้ซึ่งความมั่นคงทางอาหารของประเทศ" ปิยะ กล่าว
สมาคมฯ ยังเรียกร้องให้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ใช้กระบวนการของสภาฯ เร่งรัดกฏหมายคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน และขนาดเล็ก และขอให้ส่งหนังสือเวียนถึงสมาชิกฯ ทุกคนให้รับทราบ และช่วยประสานให้หยุดจับสัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะปลาทู
เนื่องจากทางสมาคมเรียกร้องมา 7 ปี แล้ว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ไม่ดำเนินการใดๆ ไม่มีการประกาศความเหมาะสมในการจับปลา แต่ปล่อยเอกชนเข้าไปใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปจับสัตว์น้ำ เป็นปลาเป็ดป้อนอาหารสัตว์ และป้อนเข้าสู่ตลอดผู้บริโภคจำนวนมาก ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ปัจจุบันมีปลาทูเหลืออยู่ 1.8 พันตันต่อปี ไม่ทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีญาติทำประมงหรือไม่ จึงไม่ดำเนินการเรื่องนี้ เพราะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาวประมงพื้นบ้าน และต่อเศรษฐกิจ สังคมโดยรวม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวประมงที่เดินทางมาพร้อมเรือ 4 ลำ ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยทำการลากอวนจับปลาในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าอาคารรัฐสภา แต่จับไม่ได้ปลาสักตัว แสดงให้เห็นว่าแม้แต่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ไม่เหลือปลาให้จับ
ทั้งนี้ มีเรือตรวจการณ์ ของตำรวจน้ำ 2 ลำ มาประกบ เพื่อรักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางด้วย
จากนั้นเวลา 10.30 น. ตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้านฯ 30 คนเข้ายื่นหนังสือต่อ ชวน ผ่าน ราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา ราเมศ กล่าวว่า ทางสภาฯ พร้อมรับฟังปัญหาของประชาชน เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ จากนั้นทางกลุ่มประมงฯ จะเข้าพบประธานสภาฯ เพื่อหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และดำเนินการตามกลไกของสภาฯ