ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ก.ค. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปราย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กำลังจัด มหกรรมการก่อหนี้แห่งชาติ 2564 โดยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 งบประมาณฉบับนี้ไม่น่าไว้วางใจ เพราะกู้กันต่อเนื่อง แถมเก็บภาษีต่ำกว่าเป้าสะสม ติดลบ 222,000 ล้านบาท ถ้าทำงานดีจริงไม่ต้องพึ่ง 4 กุมารที่ไหน นายกรัฐมนตรีคนเดียวก็เอาอยู่ แต่ตอนนี้เหมือนทำร้านค้าที่กู้เงินแล้วทำร้านขาดทุนมาเรื่อยๆ แต่ก็กู้เงินมาเรื่อยๆ จนเข้า 6 ปีแล้ว กู้ไป 2.39 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยนคนละ 85,000 บาทต่อปี หรือเฉลี่ย 550,000 ล้านบาทต่อปี และถ้าจัดทำงบประมาณกันแบบนี้ก็เจ๊ง
ตนอยากเตือนนักธุรกิจไม่ว่าจะรวยมากรวยน้อยว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลายทางการคลัง เพราะกู้ไปแล้ว 58 เปอร์เซ็นต์ จากเพดานกู้ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ แม้รัฐบาลจะบอกว่าปี 2564 จีดีพีโต 5 เปอร์เซ็นต์ ตรงข้ามกับสิ่งที่สภาพัฒน์บอกว่าจะ ติดลบ 8 เปอร์เซ็นต์ ของจีดีพี การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และถ้าหนี้ทะลุเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ก็จะกู้เงินไม่ได้แล้ว ซึ่งการกู้ตามวินัยการเงินการคลังต้องมีงบลงทุน 20 เปอร์เซ็นต์
นายจิรายุ ระบุว่า แต่ปีหน้า รายจ่ายประจำ 2.62 ล้านล้านบาท คาดเก็บภาษีได้ 2.67 ล้านล้านบาท เหลืองบลงทุนแค่ 50,000 ล้านบาท แสดงว่าต้องกู้มาลงทุนอีกกว่า 500,000 ล้านบาท และถ้ากู้ไม่ได้ก็อาจจะต้องมาขอสภาให้แก้กฎหมาย และสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามมาคือเกิด 'ดุลข้าราชการ' เหมือนที่เกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม คือการยกเลิกกรม กอง และข้าราชการ รวมทั้งการลดขนาดกองทัพเพื่อลดรายจ่ายประจำ ซึ่งตนหวั่นว่าจะเกิดขึ้น นอกจากนี้ตนยังมองว่าการจัดทำงบประมาณแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ เพราะถ้าเปลี่ยนปกเนื้อหาข้างในงบประมาณก็เหมือนปีก่อนๆ คือ รายจ่ายประจำเยอะ โครงการที่ไม่จำเป็นจำนวนมาก และงบลงทุนน้อย ทั้งที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต
นายจิรายุ ยกคำพูดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าจะเอาคนตกงานเข้าไปสู่ภาคเกษตรกรรม แต่ตนเชื่อว่าทำไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้วแต่ยังใช้ชุดความคิดแบบเดิมๆ ตนจึงอยากให้นายกรัฐมนตรียืนยันว่าจะไม่มีการดุลข้าราชการ เพราะถ้าคนที่ทำงานดี มีเครดิตดีก็จะสามารถกู้เงินได้ แต่คณะรัฐมนตรีนี้ หลายคนตนยังจำหน้าไม่ได้ พร้อมกล่าวว่าทุกวันนี้ ยอดผู้ติดเชื้อไม่มี แต่ยอดผู้เป็นหนี้เต็มบ้านเต็มเมือง วันนี้ฝ่ายค้านพยายามที่จะหาข้อแนะนำเพื่อไม่เกิดการกู้หนี้จากกองทุนระหว่างประเทศ หรือไม่ต้องการให้นำเงินสำรองมาใช้ในเวลาที่บ้านเมืองเกิดวิกฤต
'ประยุทธ์' ลุกแจงหนี้สาธารณะหลังยึดอำนาจน้อยกว่ายุค 'ยิ่งลักษณ์'
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ชี้แจงตอนหนึ่งถึงกรณีจำนวนหนี้ที่นายกรัฐมนตรีแต่ละคนกู้เงิน ว่า สำหรับหนี้สาธารณะเมื่อย้อนกลับไปดูเมื่อปี 2556 มีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 42.19 เปอร์เซ็นต์ ปี 2557 มีหนี้ 43 เปอร์เซ็นต์ ปี 2558 มีหนี้ 42 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปีที่ตนเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ปี 2559 ลดลงเหลือ 41
ปี 2560 หนี้สาธารณะ 41.78 เปอร์เซ็นต์ ปี 2561 41.95 เปอร์เซ็นต์ และปี 2562 41.10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเดือน พ.ค. หนี้สาธารณะขึ้นไปเป็น 44.01 เปอร์เซ็นต์ ที่ระบุว่า หนี้ประเทศจะเพิ่มในระยะต่อไปอีก เพราะเราจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อโควิด-19 เรื่องฟื้นฟู ซึ่งประชาชนได้รับ สำหรับรายได้ของประเทศต้องประเมินถึงสถานการโควิด-19 หากดีขึ้นเราก็ประมาณการว่าจะจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องมีวิธีบริหารจัดการตามที่เรามีอยู่
“ครับ ด้วยเวลาอันจำกัด ผมก็ขอชี้แจงเพียงเท่านี้ ขอบคุณท่านจิรายุ ห่วงทรัพย์ ท่านก็ห่วงจริงๆ ของท่าน ห่วงทรัพย์ ขอบคุณ ขออนุญาตเอ่ยนาม”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง