ไม่พบผลการค้นหา
6 พรรคฝ่ายค้าน ยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาฯ ชงรื้ออำนาจ ส.ว. หวนคืนการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ปิดประตูบัตรเขย่ง

พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค นำโดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ,พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ,พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ,วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ,นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พร้อมคณะ ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 4 ญัตติ ต่อ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดย ชวน กล่าวว่า ขณะนี้ญัตติของพรรคฝ่ายค้านญัตติแรกได้บรรจุเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้แล้ว ส่วนฉบับของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยญัตติทั้ง 4 ที่เสนอ จะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบรายชื่อและรายละเอียดว่ามีความถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะบรรจุได้ทันในการพิจารณาในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้ ขณะที่ญัตติของพรรคก้าวไกลจากการตรวจสอบพบว่ามีรายชื่อไม่ครบ ดังนั้น จึงถือว่าญัตติก็ต้องตกไป

ด้าน ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 4 ญัตติ เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยได้เคยเสนอในชั้นกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 1.แก้ไข มาตรา 272 และ มาตรา 159 เพื่อยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเพิ่มเติมใน มาตรา 159 ว่า ในการเลือกนายกรัฐมนตรีหากไม่สามารถเลือกจากบัญชีของพรรคการเมือง ก็สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่เป็นจาก ส.ส.ได้ และปิดทางการเลือกนายกฯ จากคนนอก เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมืองได้

ยื่นญัตติ-ฝ่ายค้าน-แก้รัฐธรรมนูญ

2. แก้ไข มาตรา 270, 271 เกี่ยวกับอำนาจของวุฒิสภาในเรื่องการปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย 3. แก้ไข มาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่ง และการกระทำของ คสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน 4. แก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยการยกเลิก มาตรา 83, 85, 88, 90, 92 , 94 และ 105 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้บัตร 2 ใบ เลือกคน และเลือกพรรค เพื่อให้เป็นไปตามเจตนาของประชาชนในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างแท้จริง รวมทั้งตัดปัญหาบัตรเกิน บัตรเขย่ง ออกไปด้วย

สำหรับในส่วนระบบเลือกตั้ง พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้นำระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนด ส.ส.จำนวน 500 คน แบ่งเป็นระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยการเลือก ส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะใช้รูปแบบเขตเดียว เบอร์เดียว อีกทั้งการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะใช้ระบบการกัน 5 % หมายความว่าพรรคการเมืองใดที่จะมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้นั้น จะต้องมีจำนวนคะแนนเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 5 % จากจำนวนคะแนนเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคิดว่าการมีระบบการกัน 5 % เอาไว้นั้น จะไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใหญ่ หรือทำลายพรรคการเมืองเล็ก แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การเมืองมีเสถียรภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ยังไม่เป็นที่ยุติ เพราะอาจมีการอภิปราย และแก้ไขในชั้นของคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาได้

ขณะที่ สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ มี ส.ส.ร่วมลงชื่อประมาณ 170 คน ซึ่งในส่วนของการแก้ไขกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรี จะกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น เป็นผู้เลือกนายกฯ จากบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ หากไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้ จะเปิดโอกาสให้ส.ส.ในสภาฯ เสนอชื่อส.ส.ที่มีคุณสมบัติ และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามให้สภาฯ เลือกเป็นนายกฯ ต่อไป ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดโอกาสนายกฯ คนนอกไปโดยปริยาย

ยื่นญัตติ-ฝ่ายค้าน-แก้รัฐธรรมนูญ

อ่านเพิ่มเติม