ไม่พบผลการค้นหา
กกร.เสนอนายกฯ ตั้งคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ เดินหน้านโยบายสำคัญ ขอรัฐขยายเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ยาวต่อถึงสิ้นปี ประเมินสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง หั่นจีดีพีอีกรอบติดลบหนักถึง 9%

กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.ยังมีความเป็นห่วงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงข้างหน้า ซึ่งยังขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่มาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 กำลังจะสิ้นสุดลง และสถานการณ์การจ้างงานยังเปราะบาง ทำให้ กกร.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ลงมาเป็น -9.0% ถึง -7.0% จากเดิมที่ประมาณการอยู่ที่ -8.0% ถึง -5.0% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกลงมาที่ -12.0% ถึง -10.0% จากเดิมที่ -10.0% ถึง -7.0%

ทั้งนี้ กกร.เสนอให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งคณะทำงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้มีลักษณะแบบเดียวกับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โดยให้นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ซึ่ง กกร.จะมีการจัดตั้งคณะทำงาน กกร.ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เพื่อร่วมกันจัดเตรียมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยจะมีการผลักดันแผน 4 เรื่องเพื่อให้เกิดผลได้จริง ได้แก่ 1.การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิง Wellness 2.การยกระดับการเกษตรมูลค่าสูง 3.การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในธุรกิจเป้าหมาย และ 4.การยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการภาษีเพื่อจัดทำข้อเสนอมาตรการทางภาษี (ภาษีสรรพากร) เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อจะนำไปหารือและเสนอให้มีมาตรการช่วยเหลือจากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่

ด้านสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2563 โดยเฉพาะข้อเสนอของภาคเอกชน ทั้งการลดการนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ตลอดจนมาตรการยืดหนี้ เพื่อลดผลกระทบและชะลอการเลิกจ้างแรงงาน หลังประเมินว่าสถานการณ์จะยังไม่ดีขึ้น

ขณะที่ชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมธนาคารไทยอยู่ระหว่างหารือถึงแนวทางผ่อนปรนเงื่อนช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มมากขึ้น โดยเบื้องต้นจะมีการปรับขนาดสินเชื่อรวมถึงเงื่อนไขที่ผ่อนปรน จากปัจจุบันการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังมีข้อจำกัดทำให้ผู้ประกอบการเข้าไม่ถึงสินเชื่อเท่าที่ควรคาดว่าจะมีการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่เร็วๆ นี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :