ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม เป็นวันไตโลก เนื่องจากโรคไตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก
องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม เป็นวันไตโลก เนื่องจากโรคไตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก  วันนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดกิจกรรม "สูงวัย ไตแข็งแรง" เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาโรคไต ที่พบว่าขณะนี้คนไทยมีแนวโน้มเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ไตมีประสิทธิภาพการทำงานลดต่ำลง
 
ผลการตรวจคัดกรองไตเบื้องต้นที่ระบุว่า ไม่พบความเสี่ยงเป็นโรคไต ช่วยคลายกังวลให้ สิริเพ็ญ หาญโสภา ได้มากทีเดียว  ขณะที่ประชาชนอีกหลายคน โดยเฉพาะวัยสูงอายุ กำลังต่อคิวรับบริการตรวจคัดกรองไต ในกิจกรรมวันไตโลก ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อตรวจสอบว่า ตัวเองมีความเสี่ยงเป็นโรคไตหรือไม่  หลังผลการสำรวจล่าสุดระบุว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตกว่าร้อยละ 17 หรือกว่า 8 ล้านคน   ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย กว่า 2 แสนคน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง
 
การล้างไตทางช่องท้อง เป็นวิธีหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย  โดยผู้ป่วยต้องใส่น้ำยาล้างไตปริมาตร 1 ถึง 2 ลิตร ค้างในช่องท้องรอบละ 6 ถึง 8 ชั่วโมง  4 รอบต่อวัน  วิธีนี้ผู้ป่วยสามารถทำเองได้ที่บ้านทุกวัน เช่นเดียวกับกิจวัตรประจำวัน  การล้างไตทางช่องท้องเสียค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับวิธีการดั้งเดิม อย่างการฟอกเลือด ที่ผู้ต้องนั่งกับที่ 4 ถึง 5 ชั่วโมงต่อการรักษา 1 ครั้ง
 
การผ่าตัดปลูกถ่ายไต เป็นอีกวิธีของการรักษาโรคไตเรื้อรัง ที่ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยสามารถขับของเสียในเลือดผ่านไตได้ใกล้เคียงปกติ  รวมทั้งการควบคุมปริมาณน้ำ ต่างจากวิธีการฟอกเลือด และล้างช่องท้อง ที่ช่วยยืดอายุการใช้งานไตเท่านั้น  แต่การปลูกถ่ายไตมีข้อจำกัด ที่สามารถปลูกถ่ายจากญาติหรือคู่สมรสที่มีชีวิต หรือรับบริจาคจากผู้เสียชีวิตเท่านั้น ส่งผลให้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต พบเพียงปีละ 400 ราย จากความต้องการ 4 หมื่นคนต่อปี 
 
การเลือกรับประทาน เป็นอีกคำแนะนำสำหรับลดความเสี่ยงโรคไต  อย่างการลดโปรตีน หรืออาหารที่มีเกลือแร่สูง และยาปฏิชีวนะที่ส่งผลให้ไตทำงานหนัก ควบคู่กับการควบคุมความดันโลหิต-ระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปกติ และตรวจการทำงานของไตเป็นประจำทุกปี 
 
สาเหตุที่นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคไตเรื้อรัง  เนื่องจาก แต่ละประเทศใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขสำหรับการรักษาโรคไตจำนวนมาก  ซึ่งกรมอนามัยเปิดเผยในปี 2560 ไทยอาจใช้งบประมาณในการบำบัดทดแทนไตในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากว่า 1 หมื่น 7 พันล้านบาท  และอาจมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไตวายถึง 13,000 คน โดยกว่า 1 ใน 3 เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog