เทคโนโลยีสมัยนี้ทำให้การค้าขายของออนไลน์เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ในทางกลับกัน ก็ทำให้การค้าขายสิ่งผิดกฎหมายก็ทำได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน
เทคโนโลยีสมัยนี้ทำให้การค้าขายของออนไลน์เป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ในทางกลับกัน ก็ทำให้การค้าขายสิ่งผิดกฎหมายก็ทำได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน ล่าสุด ผู้สื่อข่าวชาวสกอต เผยว่า เฟซบุ๊กกำลังกลา���เป็นอีกหนึ่งตลาดมืดในการค้าอวัยวะมนุษย์กันแล้ว
ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว ซันเดย์ โพสต์ หนังสือพิมพ์ของสกอตแลนด์เปิดเผยว่า ปัจจุบัน คนจำนวนไม่น้อยกำลังพยายามเปลี่ยนให้สังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก กลายเป็นที่สำหรับสร้างรายได้ด้วยการขายอวัยวะมนุษย์ เพราะธรรมชาติของเฟซบุ๊ก ที่สามารถแชร์ข้อมูลต่างๆ อย่างโฆษณาการขอรับบริจาคอวัยวะ ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง การค้าอวัยวะจึงสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ไม่ยากนัก
ผู้สื่อข่าวคนนี้ลองลงโฆษณาเฟซบุ๊กทำทีว่า ตัวเองเป็นพี่ชายของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนไต และกำลังหาผู้บริจาคอวัยวะ ก่อนพบว่า ภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ เขาได้รับการตอบรับจากผู้สนใจถึง 11 คนจากทั่วโลก ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงเม็กซิโก โดยหนึ่งในนั้น เสนอขายไตให้แลกกับค่าตอบแทนประมาณ 1,600,000 บาท ขณะที่ อีกคนหนึ่งเป็นคุณพ่ออายุ 22 ปีที่เสนอขายไต เพื่อที่เขาและคู่หมั้นที่กำลังตั้งครรภ์จะได้มีเงินกลับบ้านที่ฮังการีได้
นายอลัน แคลมป์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลการบริจาคอวัยวะของอังกฤษกล่าวว่า อังกฤษ และเกือบทุกประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ ต่างก็ไม่อนุญาตในมีการบริจาคอวัยวะอย่างผิดกฎหมาย หรือโฆษณาซื้อขายอวัยวะมนุษย์โดยเด็ดขาด แต่เนื่องจากการต่อคิวที่ยาวเหยียดของโรงพยาบาล ซึ่งอาจต้องรอยาวนานถึง 7 ปี บวกกับสุขภาพที่ย่ำแย่ของผู้ป่วย ทำให้หลายคนต้องหันไปพึ่งตลาดมืด
รายงานขององค์การอนามัยโลกหรือ WHO เมื่อปี 2555 เผยว่า ภายใน 1 ชั่วโมง ทั่วโลกจะมีการซื้อขายอวัยวะมนุษย์อย่างผิดกฎหมายมากกว่า 1 ชิ้น ส่วนใหญ่จะเป็นไต ด้านนิตยสารไซโคโลจี ทูเดย์ รายงานว่า คนที่ขายอวัยวะมีตั้งแต่ ชาวบ้านที่ยากจนต้องการเงิน ไปจนถึงสัปเหร่อ หรือ ผู้ดูแลโรงประกอบพิธีฌาปนกิจศพที่ตกลงราคากับนายหน้าค้าอวัยวะ หรือในกรณีที่แย่ที่สุดก็คือ มีการขายอวัยวะของเหยื่อที่ถูกลักพาตัว หรือเหยื่อที่ถูกนำมาขายบริการทางเพศ
การบริจาคอวัยวะอย่างถูกกฎหมายส่วนใหญ่จะมาจากผู้เสียชีวิต หรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยเอง ที่กรุ๊ปเลือดตรงกับผู้ป่วย ในขณะที่ผู้ป่วยอีกจำนวนมากยังต้องรออย่างไร้ความหวัง ให้มีชีวิตอยู่รอดจนกว่าจะถึงคิวของตัวเอง ปัจจุบันจำนวนผู้ที่กำลังรอรับบริจาคไตแค่ในสหรัฐฯ ก็มีมากเกือบทะลุ 100,000 คนแล้ว และทุกปีจะมีคนที่เสียชีวิตในระหว่างรอประมาณ 4,500 คน
แม้ตลาดมืดค้าอวัยวะออนไลน์อาจช่วยลดจำนวนคนรอบริจาคไปได้บ้าง แต่นี่แสดงให้เห็นถึงจุดบกพร่องทางคุณธรรม จริยธรรม และการบังคับใช้กฎหมายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว เอบีซี นิวส์ ของออสเตรเลียรายงานว่า โรงพยาบาลส่วนใหญ่มักมีกระบวนการตรวจสอบที่ค่อนข้างละเอียด โดยมีเพียงร้อยละ 10 ของศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะทั้งหมดเท่านั้น ที่จะพิจารณารับบริจาคไตจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย
แม้เฟซบุ๊กเองเคยเปิดโครงการรับบริจาคอวัยวะอย่างถูกกฎหมายเป็นของตัวเองสำหรับชาวอเมริกัน ร่วมกับองค์กร "โดเนท ไลฟ์ อเมริกา" เมื่อปี 2555 เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ใช้เว็บไซต์ดังกล่าวลงทะเบียนบริจาคอวัยวะได้ แต่โครงการนี้ก็เป็นเพียงโครงการระยะสั้นเท่านั้น และไม่ได้ทำให้การแอบแฝงค้าอวัยวะมนุษย์หายไปแต่อย่างใด