น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย หรือพีเน็ต กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สั่งสอบอดีตผู้สมัครพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่ออกมารณรงค์ให้โหวตโนและโหวตพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย โดยระบุว่า ต้องดูคำอธิบายจาก กกต.โดยละเอียดว่า ตรวจสอบด้วยฐานความผิดใด เนื่องจากการรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ว่าเลือกพรรคใด หรือไม่ประสงค์ลงคะแนน ตามที่มีช่องในบัตรเลือกตั้ง สามารถกระทำได้ ถือเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามปกติที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่ห้าม คือ การทุจริตการเลือกตั้ง อย่างการจูงใจ ให้ หรือเสนอว่าจะให้ ใช้อิทธิพล บังคับขู่เข็ญ แลกกับการไปลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผูู้ใดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนการรณรงค์ผิดกฎหมายคือ รณรงค์ไม่ให้ไปเลือกตั้ง หรือขัดขวางการเลือกตั้ง
"ตามหลักกฎหมายทั่วไป อะไรที่ไม่ได้ห้ามย่อมกระทำได้ ผู้บังคับใช้อำนาจต้องดำเนินการไปตามกฎหมายที่ให้ไว้ จะใช้ดุลพินิจส่วนตัววินิจฉัยไม่ได้" น.ส.ลัดดาวัลย์กล่าว
พีเน็ตเผย กกต.รับรอง ANFREL เกาะติดกาบัตรแล้ว ย้ำเปิดกว้างโลกจับตายิ่งโปร่งใส ลดผวาเกมตุกติก
น.ส.ลัดดาวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมเรื่องการรับรองผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจากต่างประเทศ โดยระบุว่า ล่าสุดได้รับการประสานจากทางเครือข่ายภาคประชาสังคมของเอเชีย หรือ ANFREL ว่า ได้รับการรับรองจาก กกต.ให้เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทยได้แล้ว แม้จะเหลือเวลาเพียง 12 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ แต่ด้วยประสบการณ์กว่า 20 ปีของเครือข่ายจากเอเชีย ก็เชื่อว่า จะติดตามช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งไทยได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยใหญ่ของพรรคการเมือง บรรยากาศวันเลือกตั้ง การนับคะแนน การรวมคะแนน การประกาศผล ซึ่งน่าเสียดายที่การสังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้นทำได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะเหลือเวลาอีกไม่มากจะถึงวันเลือกตั้ง การติดตามในระยะยาว ไม่ทันแล้ว
น.ส.ลัดดาวัลย์ กล่าวว่า ไม่ทราบว่า กกต.รับรองผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศแล้วกี่องค์กร คงต้องให้ทาง กกต.เป็นผู้แถลงอย่างเป็นทางการ แต่ขอยืนยันว่า ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจากต่างประเทศ มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเลือกตั้งไทย ทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใส ลดความไม่มั่นใจว่า การเลือกตั้งจะมีการตุกติกในแต่ละขั้นตอนที่อาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดความสับสน
โดยเฉพาะการนับคะแนนรวม ที่เกิดจากกติกาต่างเขตต่างเบอร์ ซึ่งการนำบัตรเลือกตั้งจากหน่วยเลือกตั้งไปรวมไว้ที่สำนักงานเขตหรือสำนักงานอำเภอไม่น่ามีปัญหา เพราะยังอยู่ในเขตที่เบอร์เดียวกัน แต่เมื่อนำไปรวมกันที่จังหวัด ก็อาจก่อให้เกิดความสงสัยในการรวมคะแนน ซึ่งไม่มีใครรูู้ว่าจะพลาดเหมือนเอกสารแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส.แต่ละเขตหรือไม่
"แน่นอนว่า คนในประเทศเองก็ต้องบอกว่าการเลือกตั้งที่จะถึงเรียบร้อยดี แต่ถ้ามีตัวแทนจากต่างประเทศที่มาร่วมสังเกตการณ์ยืนยันอีกเสียงว่าเลือกตั้งเรียบร้อยจะดีกว่าหรือไม่ ผลการเลือกตั้งก็จะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย พอหลังการเลือกตั้งเขตไหนมีปัญหาก็ค่อยแก้กันไปทีละจุด เว้นแต่จะไม่สนใจว่าสากลเขาคิดกันอย่างไร ซึ่งโลกาภิวัตน์ที่ทุกส่วนของโลกเชื่อมต่อกันหมดแล้ว ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกวิจารณ์เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น" รองประธานพีเน็ตกล่าว