ผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการส่งออกข้าวทั้งปี 2557 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากปัจจัยบวกที่รัฐบาลต้องการระบายข้าวในสต๊อก และอาจทบทวนโครงการรับจำนำข้าว
ร้อยตำรวจโทเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์ว่าในปี 2557 ไทยจะส่งออกข้าวได้ 7.5ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.9 แต่น้อยกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 8 ล้านตัน มูลค่า 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 144,000 ล้านบาท
ปัจจัยบวกที่มีผลต่อการส่งออกข้าวของไทยในปีนี้ คือ รัฐบาลต้องการระบายข้าวในสต๊อก และอาจทบทวนโครงการรับจำนำ รวมทั้งราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับที่ไม่ห่างจากคู่แข่งมากนัก ประกอบกับ เงินบาทที่อ่อนค่าลง จึงเป็นผลดีต่อการส่งออก
ขณะที่ปัจจัยลบ คือ สต๊อกข้าวที่มีปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า รวมทั้งเวียดนามและอินเดีย ยังคงแข่งขันด้านราคา ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ประเทศผู้ส่งออกรายใหม่ อย่างพม่า และกัมพูชา หันมาเน้นการส่งออกมากขึ้น
ทั้งนี้ ภายใน 6 เดือนข้างหน้า สมาคมผู้ส่งออกข้าว อาจทบทวนปริมาณการส่งออกข้าวใหม่อีกครั้ง โดยจะขอรอดูนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ และสถานการณ์ค่าเงินบาท รวมทั้งปริมาณการผลิตของประเทศคู่แข่งด้วย
สำหรับการส่งออกข้าวในปี 2556 ลดลงจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 1.8 อยู่ที่ 6,600,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 133,000 ล้านบาท
ส่วนราคาข้าวในตลาดโลก พบว่าปัจจุบัน ราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง เช่น เวียดนาม แต่ยังต่ำกว่ากัมพูชา ขณะที่ข้าวหอมมะลิของไทย ราคาสูงกว่าเวียดนาม กัมพูชา แต่ต่ำกว่าข้าวอินเดีย
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐ คาดว่าในปีนี้ ไทยจะเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 2 ของโลก ที่ปริมาณ 8.5 ล้านตัน โดยอันดับ 1 คือ อินเดีย ตามด้วยเวียดนามอันดับ 3 นอกจากนี้ ยังคาดว่าจีนจะเป็นผู้นำเข้าข้าวอันดับ 1 ของโลก รองลงมา คือ ไนจีเรีย และอิหร่าน
ด้านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ออกมาตรการยืดเวลาชำระหนี้ออกไป 6 เดือน และในกรณีที่เกษตรกรมีความประสงค์จะใช้เงินเพื่อนำไปลงทุนทำการผลิตในฤดูกาลใหม่ ธ.ก.ส. จะปล่อยสินเชื่อรอบใหม่ให้ตามหลักเกณฑ์ปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรเกี่ยวกับภาระหนี้สินที่มีอยู่ ธ.ก.ส.
ส่วนการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 ธ.ก.ส.ได้ทยอยจ่ายเงินดังกล่าวให้เกษตรกรไปแล้ว 59,518 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณข้าวเปลือกจำนวน 3.7 ล้านตัน โดยล้วนเป็นเงินจากงบประมาณ และเงินจากการระบายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ชำระคืน ไม่ใช่เงินทุน ธ.ก.ส.