ไม่พบผลการค้นหา
'สุภิญญา' แนะช่องเนชั่น22 เยียวยาผู้เสียหายด้วยนอกจากขอโทษผ่านสื่อ ชี้ กสทช. ต้องไม่สองมาตรฐาน แต่ไม่ควรเพิกเฉยต่อวิกฤตศรัทธาที่อาจกระทบกับทั้งวิชาชีพได้

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. แสดงความคิดเห็นต่อกรณี นักข่าวช่องเนชั่น22 โกหกตัวตนกับแหล่งข่าวทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์กลายเป็นผู้เสียหาย ว่า นอกจากช่องแถลงขอโทษแล้ว ช่องควรมีมาตรการเยียวยาผู้เสียหายด้วย เช่นการทำหนังสือขอโทษเป็นทางการ หรือไปขอโทษด้วยตัวเอง

ซึ่งถ้ามีการมาร้องเรียนที่ กสทช. ในประเด็นข้างต้นนี้ กสทช. อาจมองว่าไม่ขัดกฎหมายโดยตรง แต่เป็นเรื่องจรรยาบรรณสื่อ ถ้ายังทำงานอยู่จะใช้วิธีเชิญช่องที่ถูกร้องเรียนมาเจอกับผู้ร้องโดย กสทช. เป็นตัวกลาง ถ้าช่องยอมรับผิดจริงก็ควรมีมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย จากนั้น กสทช. ก็ควรส่งเรื่องนี้กลับไปที่สภาวิชาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์ที่ช่องสังกัดเพื่อให้มีมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป รวมทั้ง กสทช. ควรเป็นตัวกลางเชิญช่องและองค์กรสื่อมาคุยว่าปัญหาต้นเหตุมาจากที่ใด ช่องควรร่วมรับผิดชอบอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาต่อสื่อที่เกิดขึ้น

สุภิญญา กล่าวด้วยว่า สื่อที่เลือกข้างย่อมทำได้ โดยมีจรรยาบรรณขั้นพื้นฐานกำกับ ที่สำคัญถ้า กสทช. ใช้มาตรฐานเดียวกับสื่อเลือกข้างเช่น ช่องวอยซ์ ทีวี ในอดีต ปัจจุบันก็ควรใช้มาตรฐานเดียวกันด้วย เพื่อให้สังคมเห็นว่า กสทช.กำกับดูแลด้วยความเป็นธรรม และคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมโดยภาพรวมเหมือนในอดีต และส่วนตัวยังสนับสนุนเสรีภาพสื่อเต็มที่ และคิดว่า กสทช. ไม่ควรใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ แต่ กสทช. ก็ไม่ควรมีสองมาตรฐาน และไม่ควรเพิกเฉยเกินไปต่อวิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นในวงการโทรทัศน์เมืองไทยตอนนี้ เพราะจะทำให้ช่องที่ตั้งใจดีเสียกำลังใจ และ ช่องที่ล้ำเส้นก็ล้ำเส้นต่อไปจนกระทบทั้งวิชาชีพ

โดยวิกฤตศรัทธาต่อสื่อโทรทัศน์ทั้งในประเด็นการเมืองและประเด็นอื่นๆ เช่น ดรามาข่าวอาชญากรรม ข่าวมอมเมา ข่าวละเมิดสิทธิ์ต่างๆ ถ้า กสทช. เงียบสงัดแบบนี้ ต่อไปก็จะไม่มีช่องไหนไม่ล้ำเส้นอีก จนกว่าจะมีช่องที่กระทบอำนาจรัฐ สังคมถึงจะเห็น กสทช. ลุกขึ้นมาทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ใช่หรือไม่ และทุกสื่อก็ควรทำเป็นมาตรฐานเดียวกันคือ ถ้ามีการทำผิดจรรยาบรรณสื่อ มีการละเมิด ผู้ตกเป็นข่าวควรมีมาตรการเยียวยา ขั้นพื้นฐาน อาทิการขอโทษอย่างเป็นทางการ การไปขอโทษด้วยตนเอง ไม่ว่าแหล่งข่าวนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือวีไอพี เพื่อรักษามาตรฐานจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ หากมีความเสียหายมากก็ต้องมีการเยียวยาด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย กระบวนการเยียวยาและรับผิดชอบลักษณะนี้ จะทำให้ลดขั้นตอนของการต้องไปฟ้องในคดีอาญาหรือแพ่ง แต่เป็นการเยียวยาด้วยกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ ซึ่งทุกสื่อควรทำให้เหมือนกันทั้งหมด ถ้ายังไม่เคยทำ ก็ต้องเริ่มทำ

อดีตกรรมการ กสทช. กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สังคมไทยอึดอัดคุกรุ่นกันตอนนี้ คือเรื่องการมีหลายมาตรฐาน เรื่องการกำกับดูแลสื่อก็เช่นกัน กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลอิสระ ควรช่วยประคับประคองสังคมด้วยการยึดหลักนิติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ฝากทั้งชุดแรกที่ทำงานและรักษาการมารวม 9 ปี และ ชุดใหม่ที่กำลังจะมาแทนด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง