การไต่สวนร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ถูกวิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง หลังนายสุพจน์ ไข่มุกต์ แสดงความเห็นส่วนตัว ว่ารถไฟความเร็วสูงยังไม่พร้อมสำหรั
การไต่สวนร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ถูกวิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง หลังนายสุพจน์ ไข่มุกด์แสดงความเห็นส่วนตัว ว่ารถไฟความเร็วสูงยังไม่พร้อมสำหรับประเทศไทย และควรทำให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศไทยก่อน ถนนลูกรังในประเทศไทย ยาวกี่กิโลเมตรเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่พัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงไปพร้อมกัน
เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ "ดับฝัน" คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศ หลังนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นส่วนตัวด้วยความเป็นห่วง ถึงความจำเป็นในการออกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
การออกบัลลังก์ไต่สวนพยานในครั้งนี้ เป็นไปตามคำร้องของพรรคประชาธิปปัตย์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ว่าขัดต่อบทบัญญัติหรือตราขึ้นโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่วนนายเฉลิมพล เอกอุรุ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถามกับนายชัชชาติว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ โดยนายชัชชาติ ก็ให้คำตอบว่า สนับสนุนเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการสร้างรถไฟความเร็วสูงจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ สู่ชนบท ลดความเหลื่อมล้ำ
หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกความเห็นส่วนตัว สังคมออนไลน์อย่าง "เฟสบุ๊ค" มีปฏิกริยาตอบกลับทันควัน ในหลายเพจด้วยกัน ว่าแท้จริงแล้ว "ถนนลูกรัง" ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่านั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ และมีความยาวเท่าไร
เพจ "ประเทศไทยอยู่ตรงไหน" เเชร์ภาพว่า ประเทศไทยมีถนนทั้งสิ้น 115,077 กิโลเมตร ร้อยละ 4.3 หรือ 4,958 กิโลเมตร เป็นถนนลูกรัง เมื่อเทียบกับต่างประเทศ สอดคล้องกับความเห็นของนายชัชชาติที่ระบุว่า ถนนลูกรังที่มีอยู่ใช้เวลา 3 ปีก็พัฒนาเสร็จ
ส่วนเว็บไซต์ CIA World Fact Book ของสหรัฐฯ ซึ่งรวบรวมข้อมูลถนนในแต่ละประเทศทั่วโลกพบว่า ประเทศที่มีพื้นที่เท่ากันกับไทย เช่น ญี่ปุ่นมีถนนลูกรังถึงร้อยละ 19.58 มาเลเซียมีถนนลูกรังร้อยละ 19.55 ของถนนทั้งหมด "ซํ้าร้าย" ญี่ปุ่นมีรถไฟความเร็วสูงหรือชิงกันเซนตั้งแต่ปี 2507 ขณะที่ มาเลเซียได้ประกาศยกเครื่องรถไฟความเร็วสูงใหม่เมื่อปีที่แล้ว
ส่วนประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่และเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐฯ กลับมีถนนลูกรังร้อยละ 34.64 มากกว่าจีนที่ถนนลูกรังลดลงเรื่อยๆ เหลือเพียงร้อยละ 15.89 อีกทั้ง มีนโยบายเชื่อมต่อภูมิภาคกับอาเซียน ด้วยรถไฟความเร็วสูงมายังลาว ซึ่งมีถนนลูกรังถึงร้อยละ 98.66 ขณะเดียวกัน ลาวเตรียมสร้างรถไฟความเร็วสูงคู่ไปกับถนนลาดยาง เพื่อเชื่อมกับด่านลาวบาว ของเวียดนาม ที่กำลังปรับปรุงทางหลวงขนานใหญ่ไปพร้อมกัน เพื่อเชื่อมอาเซียนจากเมืองทวายในเมียนมาร์ไปยังเมืองท่าด่านัง ของเวียดนาม
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในแต่ละประเทศ ไม่สามารถสะท้อนหลักคิดการพัฒนาระบบคมนาคมของแต่ละประเทศ เพราะมีความแตกต่างกัน หลายประเทศนิยมระบบรางมากกว่า เนื่องจากมีต้นทุนการเดินทางตํ่า ขณะที่ ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความพยายามสร้างทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกัน เพื่อเป็นเส้นทางการค้าในอนาคต
จากข้อมูลที่มีจึงทำให้เห็นได้ว่า การมีถนนลูกรัง ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศ ที่จะขยายโอกาสและกระจายความเจริญไปสู่ชนบท เพื่อความสร้างความเท่าเทียมให้กับคนไทยทุกคน