ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องราวดีๆ ในมิติเชิงวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายเรื่องที่น่าศึกษา หนึ่งในนั้นคือ ลวดลาย เรื่องราวที่สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมผ่านผืนผ้า โดยเฉพาะผ้าบาติก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
รายงานพิเศษชุดใต้ฟ้าเดียวกัน 10 ปีที่ปลายด้ามขวาน ตอนที่ 5 
 
เรื่องราวดีๆ ในมิติเชิงวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีหลายเรื่องที่น่าศึกษา หนึ่งในนั้นคือ ลวดลาย เรื่องราวที่สะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมผ่านผืนผ้า โดยเฉพาะผ้าบาติก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
แม้เหตุการณ์ความไม่สงบจะทำลายโอกาสการแข่งขันเชิงการตลาดของสินค้าจากชายแดนใต้ แต่ด้วยคุณภาพและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ทำให้ผ้าบาติก จากยะลา ปัตตานี และนราธิวาสกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสู่กลุ่มอาชีพได้อย่างยั่งยืน 
 
 
หากเอ่ยถึงผ้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของจังหวัดยะลาในระยะ 4 -5ปีมานี้ หนีไม่พ้นผ้า "ปะลางิง"  ผ้าปะลางิง คือผ้าทอมือลายบล็อคไม้ จัดเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  พบเห็นผ้าชนิดนี้เป็นครั้งแรกในปี พุทธศักราช 2472 ในขบวนรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวที่เสด็จประพาสมณฑลปัตตานี จากนั้นผ้าชนิดนี้ได้สูญหายไปเกือบ 80 ปี พร้อมกับการเลิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสภาพอากาศไม่เหมาะสม เนื่องจากฝนตกชุก
 
 
ขั้นตอนการผลิตผ้าปะลางิงทำด้วยมือทั้งสิ้น เริ่มจากการทอ การทำบล็อกไม้ การทำลายผ้า และขั้นตอนการพิมพ์ที่ใช้เทียนเป็นวัสดุหลัก ในอดีตการทำบล็อคไม้สำหรับพิมพ์ผ้าปะลางิง จะเป็นช่างกลุ่มแกะสลัก ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าเป็น ลายด้ามกริช  ลายช่องระบายลม ลายประตูลูกกรงที่ปรากฏตามมัสยิด  รวมถึงลายดอกสาละ หรือลายเพดานโบสถ์ของศาสนาพุทธ
 
 
กลุ่มศรียะลา บาติค โดยคุณปิยะ  สุวรรณพฤกษ์ได้ฟื้นฟูการทำผ้าปะลางิงขึ้นเมื่อปี 2552 จนได้รับคัดเลือกให้เป็นสุดยอดสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ระดับ 4 ดาวเมื่อปี 2554  ขณะนี้พยายามเปิดตลาดผ้าปะลางิงให้กว้างขึ้นด้วยการตัดเย็บแบบสมัยใหม่สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้
 
 
อีกกิจกรรมของกลุ่มศรียะลา บาติก คือการสอนขั้นตอนการผลิตผ้าปะลางิงแก่กลุ่มแม่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นวิทยากรสอนอาชีพของโครงการพระดาบส  ครอบครัวของคุณปิยะซึ่งเป็นคนยะลาโดยกำเนิดได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเช่นกัน  เมื่อปี 2553 ครอบครัวของเขาถูกลูกหลงจากระเบิดทั้ง 3 คนพ่อ แม่ลูก จนคิดจะย้ายไปตั้งรกรากที่อื่น  แต่เมื่อมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทำให้เขาเปลี่ยนใจ
 
 
ส่วนที่จังหวัดนราธิวาสก็มี "ผ้าบาติก" ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศเช่นกัน  กลุ่มญาดา บาติกเริ่มทำผ้าบาติกมาตั้งแต่ปี 2540  ระยะแรกใช้ "เทียน" ในการเขียนลายเหมือนการทำผ้าบาติพื้นที่อื่นๆ แต่เมื่อการแข่งขันสูงขึ้นจึงต้องหาจุดขายที่แตกต่าง ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาญาดา บาติกจึงเปลี่ยนเป็นเทคนิคการ "เพ้นท์" ด้วยสีบนผืนผ้า  ผลิตภัณฑ์ของญาดาบาติก มี 2  กลุ่มหลัก  คือ ผ้าบาติก และผ้าคลุมผม  ขณะนี้มีตลาดประจำทั้งในและต่างประเทศ ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามา เช่น  มาเลเซีย  บรูไน  
 
 
หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2548 ญาดาบาติก ได้รับงบประมาณจากกองอำนวนการเสริมสร้างสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 ล้าน 4 แสนบาท เพื่อใช้สร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้เพื่อสอนเทคนิคการทำผ้าบาติก และผ้าคลุมผมแก่ชาวบ้านในชุมชน และจังหวัดใกล้เคียง สร้างรายได้ และอาชีพให้กับคนในชุมชน  สมาชิกของกลุ่มมีรายได้เฉลี่ย 200 - 1,000 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับฝีมือ
 
 
16 ปีของการผลิตผ้าบาติกสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับคนในพื้นที่โดยเฉพาะแม่บ้าน และกลุ่มเด็กเยาวชน   เด็กๆ หลายคนที่เติบโตมาในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ กลายเป็นพลังสำคัญในการผลิต และขยายตลาดผ้าบาติกจากสินค้าโอทอป กลายเป็นสินค้าที่สามารถส่งออกไปขายหลายประเทศ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรสท์  ฮาวาย  บรูไน  ด้วยการใช้ทักษะภาษาอังกฤษของเยาวชนที่จบการศึกษามาเสริมงานด้านการขาย  ในอนาคตกลุ่มเยาวชนศูนย์ฝึกอาชีพญาดา เตรียมที่จะแยกกลุ่มออกมาดำเนินการเอง
 
 
ส่วนผ้าบาติกของจังหวัดปัตตานีที่มีชื่อเสียงอีกกลุ่ม คือ กลุ่มบาราโหม บาติก เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2545  จากความรักในงานศิลปะของคนรุ่นพ่อ  จุดเด่นของบาราโหม บาติก เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีรูปแบบผสมผสานเรื่อง ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชุมชน เช่นลวดลายดอกชบา  เรือกอและ  ต่อมาประยุกต์เป็นลายกราฟฟิคให้เข้ากับยุคสมัย  รูปแบบการเขียนลวดลายจะเขียนด้วยมือ ลวดลายจึงไม่ซ้ำกัน  เทคนิคพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ของบาราโหม บาติก คือ การเขียนลวดลายบนผืนผ้าด้วยเส้นทอง  
 
 
ช่วงก่อนปี 2547  สินค้าของกลุ่มบาราโหมบาติกขายดี  เพราะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงร้าน  แต่หลังเกิดเหตุความไม่สงบต้องเปลี่ยนแนวการทำตลาด ใช้จุดขายการเป็นสินค้าโอทอป ไปจำหน่ายที่กรุงเทพ และผลิตตามคำสั่งซื้อของหน่วยราชการ และต่างประเทศเช่นมาเลเซีย ขณะนี้กิจการของกลุ่มบาราโหม บาติก ส่งผ่านมาถึงรุ่นลูก  มีแผนจะเปิดร้านในตัวเมืองปัตตานีเพิ่มอีก 1 สาขา เพราะมั่นใจว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย เดินทางเข้ามามากขึ้นหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีหน้า
 
 
เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของมนุษย์ สามารถสะท้อนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมในแต่ละพื้นที่  พลังแห่งผืนผ้ายังหมายถึง เศรษฐกิจชุมชน  รายได้  อาชีพ และความมั่นคงของชีวิตในอนาคตด้วย  ลวดลายและเรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านผืนผ้า นอกจากเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางวัฒนธรรมในมิติที่หลากหลายแล้ว   ยังเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ และสำคัญมากในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
190Article
76559Video
0Blog