ไม่พบผลการค้นหา
ความขัดแย้งทางการเมืองทั่วโลกตลอดทศวรรษที่ผ่านมา บ้างก็ว่าเป็นความขัดแย้งทางชนชั้นโดยเฉพาะ "ชนชั้นกลาง"
ความขัดแย้งทางการเมืองทั่วโลกตลอดทศวรรษที่ผ่านมา บ้างก็ว่าเป็นความขัดแย้งทางชนชั้นโดยเฉพาะ "ชนชั้นกลาง" ที่กลายมาเป็นชนชั้นหลักในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ชนชั้นนี้หมายถึงใครในทัศนะแบบตะวันตก 
 
 
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ และสังคมตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 นักวิชาการจำนวนมากพยายามอธิบายการปรากฏตัวของชนชั้นใหม่อย่างแยกย่อยลงไปอีก เพื่อการอธิบายความเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย ตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษให้หลังนี้ 
 
 
จากงานวิจัย "ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย" ที่ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี หรือ นสธ. และ สสส. ชี้ให้เห็นว่าชนชั้นใหม่คือ "ชนชั้นกลางล่าง" หรือ "ชนชั้นกลางใหม่" ได้ถือกำเนิดขึ้นแล้ว ซึ่งพวกเขามีฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมที่อยู่เหนือเส้นความยากจน เป็นคนหมู่มาก ตระหนักถึงสิทธิการเลือกตั้ง เพราะนโยบายพรรคตอบสนองต่อประโยชน์ของชนชั้น และเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แตกต่างจากขบวนการเคลื่อนไหวอีกฟากฝั่งหนึ่งของ "ชนชั้นกลางเก่า" ที่ปฏิเสธแนวทางการเมืองเช่นนี้
 
 
ถ้าเราพูดถึง "ชนชั้นกลางคืออะไร?" ในทรรศนะของนักวิชาการตะวันตกคงจะอธิบายปรากฏการณ์เชิงโครงสร้างที่เกิดในไทยรอบทศวรรษได้อย่างไม่ครอบคลุมนัก อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวกลับเป็นรากฐานทางความคิดสำหรับนักวิชาการไทยจำนวนมากเพื่อหาคำตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น
 
 
คำว่า "ชนชั้นกลาง" หรือ "Middle Class" ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2288 โดยเจมส์ แบรดซอส์ ก่อนที่จะนำไปใช้อย่างแพร่หลายในยุโรปเพื่อแบ่งแยกชนชั้นใหม่ออกจากขุนนาง และชาวนา หรือที่เรียกว่า "กระฎุมพี" ซึ่งหมายถึงชาวเมืองที่อาศัยอยู่ในเมืองซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้า ที่สำคัญชนชั้นกลางเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองในการปฏิวัติฝรั่งเศส
 
 
ขณะที่การนิยามชนชั้นกลาง ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ระบุว่าชนชั้นกลางคือ กลุ่มบุคคลที่อยู่ระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นกรรมาชีพ โดยบุคคลเหล่านี้มักเป็นผู้จัดการ เจ้าของกิจการขนาดเล็ก ข้าราชการระดับสูง นักวิชาการ หรือแม้กระทั่งแกนนำกรรมกร ซึ่งวลาดิเมียร์ เลนิน ผู้นำการปฏิวัติรัสเซียก็เกิดในตระกูลชนชั้นกลางในรัสเซียเช่นกัน
 
 
อย่างไรก็ตาม ยังคงเกิดคำถามว่าแล้วจะใช้อะไรมาวัดความเป็นชนชั้นกลางกันเล่า ซึ่งหลายคนมักใช้ การศึกษา วิถีชีวิต ความมั่งคั่ง อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม เป็นต้น แต่การอธิบายตามทฤษฎีมาร์กซิสต์กลับแตกต่างออกไปนั่นคือ การใช้ปัจจัยการผลิตหรือวิธีการผลิต หรือ Means of Production ในการระบุความเป็นชนชั้นกลาง
 
 
ชนชั้นกลางตามลัทธิมาร์กซิสต์ ระบุว่าเป็นชนชั้นที่อยู่ชนชั้นปกครองหรือนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งในตอนแรกใช้คำว่ากระฎุมพี ซึ่งหมายถึงพ่อค้า ต่อมามีการแปลให้ชัดเจนว่ากระฎุมพีระดับล่าง ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่มิได้ว่าจ้าง หรือใช้แรงงานชนชั้นกรรมาชีพ ที่ไม่นำมาสู่การขูดรีดมากเท่าชนชั้นนายทุน
 
 
อย่างไรก็ตาม การระบุว่าชนชั้นไหนคือ ชนชั้นกลาง ยังคงเป็นเรื่องที่ได้รับการถกเถียงทางวิชาการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจมีการจำแนกอออกไปอีกเป็นซับเซ็ตย่อยที่อยู่ในชนชั้นกลางอีกทีหนึ่ง โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่นักวิชาการได้ระบุให้มีชนชั้นกลางใน 2 ลักษณะที่ต่างยึดโยงกับระบอบประชาธิปไตย แต่เกิดจากการตีความและมีสำนึกทางการเมืองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog