การประกาศวาระปฏิรูปประเทศไทย ประชาภิวัฒน์ และสภาประชาชน ของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการปฏิวัติของลัทธิคอมมิวนิสต์บ่อยครั้ง
การประกาศวาระปฏิรูปประเทศไทย ประชาภิวัฒน์ และสภาประชาชน ของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ถูกนำไปเปรียบเทียบกับการปฏิวัติของลัทธิคอมมิวนิสต์บ่อยครั้ง แต่อดีตผู้นำหมายเลขหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย กลับเห็นต่าง และมองว่านี่คือการกระทำตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลนำโดยนายสุเทพ พร้อมด้วยคอนเซปต์ "สภาประชาชน" รวมถึงความพยายามพูดถึงการการ "ปฏิรูป" การ "ปฏิวัติ" รวมถึงศัพท์แสงฝ่ายซ้ายมากมาย ทำให้มีคนจำนวนมาก เปรียบเปรยว่าการกระทำของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล คือความพยายามให้มีการปฏิวัติในแบบสังคมนิยม
โดยทั้งแกนนำและมวลชนในฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเอง ก็มีบุคคลจำนวนมากที่เคยเข้าร่วมกับขบวนการฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่นคนเดือนตุลา ศิลปินเพื่อชีวิต และเอ็นจีโอจำนวนมาก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นนักสังคมนิยม เข้าร่วมกับขบวนของนายสุเทพไปกับเขาด้วย
ในช่วงเวลาเดียวกับความวุ่นวายที่กรุงเทพฯ ณ อำเภอดงมูล จังหวัดกาฬสินธุ์ มีการจัดงานรำลึกวีรชนปฏิวัติ ผู้เสียสละจากการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติประชาธิปไตย ในป่าเขาร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่สิ้นสุดลงไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว
เนื้อหาของงาน แสดงเจตนารมณ์ในทางตรงกันข้าม กับการชุมนุมของบรรดา "นักปฏิวัติ" ที่กรุงเทพมหานครฯอย่างชัดเจน ด้วยคำขวัญ: "หยุดอำนาจเถื่อน พิทักษ์ประธิปไตย!" และ "เดินหน้าประชาธิปไตย ประชาชนไทยต้องการเลือกตั้ง!"
คำถาม คือนักสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นนักปฏิวัติตัวจริงเสียงจริง เหตุใดจึงคัดค้านการ "ปฏิวัติ" ของระบอบสุเทพ และระบอบ "สภาประชาชน" ซึ่งมีคนจำนวนมาก เปรียบเทียบไป ว่าเป็นระบอบสภาของคอมมิวนิสต์
"ลุงธง" และชาวคอมมิวนิสต์ส่วนหนึ่ง ณ ที่แห่งนี้ จึงยืนยันอย่างเด็ดขาด ว่าในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ การยืนหยัดหลักการเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน และระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่เป็นหนทางที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นสังคมนิยมในอนาคตได้
เหตุเพราะอิทธิพลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และอุดมการณ์ความคิดแบบศักดินา ยังคงครอบงำสังคมไทยอย่างฝังรากลึก และการหันไปตอกย้ำสนับสนุนระบอบอภิสิทธิ์ชน-ศักดินานิยม ที่ดูถูกคนชนบท ปฏิเสธเสียงคนส่วนใหญ่ อย่างเช่นระบอบ "สภาประชาชน" ของกลุ่มนายสุเทพ ไม่มีทางเป็นหนทางสู่สังคมนิยมได้โดยเด็ดขาด และขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับหลักการสังคมนิยม
แต่บทเรียนที่ "ลุงธง" เองก็ไม่ได้มองข้าม และชี้ให้เห็น ก็คือชนชั้นนายทุน มีลักษณะที่อ่อนแอ และพร้อมประณีประนอมกับระบอบเก่าและอำนาจศักดินาอยู่เสมอ โดยเฉพาะชนชั้นนายทุนไทย เห็นได้ชัดจากความพยายามออกกฏหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง หวังเอาใจชนชั้นศักดินา แต่ก็พลาดท่าถูกโต้กลับเสียเอง
แต่ด้วยความที่ชาวคอมมิวนิสต์หรือนักปฏิวัติไทยในปัจจุบัน อยู่ในสภาวะที่ไม่มีพรรค ไม่มีองค์กร และต้องอยู่แบบกระจัดกระจายเช่นนี้ ทำให้ยังคงมีความจำเป็น จะต้องทำแนวร่วมกับชนชั้นนายทุน เพื่อสถาปนาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อยู่ แต่สิ่งที่สำคัญ คือชาวคอมมิวนิสต์ ยังคงจะต้องรักษาจุดยืนที่เป็นประชาธิปไตยไว้ให้มั่นคง ไม่แปรเปลี่ยนไปตามความโลเลของชนชั้นนายทุนโดยเด็ดขาด
ในสภาวะที่ประเทศไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ และการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ในขั้นตอนของระบบทุนนิยมยังคงติดขัดมีปัญหา ก้ำกึ่งระหว่างการพัฒนาและความล้าหลังเช่นนี้ อดีตผู้นำหมายเลขหนึ่งคนสุดท้ายของ พคท. จึงได้ฝากข้อคิดเตือนใจแก่นักปฏิวัติทั้งหลาย ให้พิจารณาดูว่าการมุ่งหน้าสู่การปฏิรูปหรือการปฏิวัติ โดยละทิ้งหลักการประชาธิปไตย มุ่งไปในทิศทางที่ปฏิเสธเสียงส่วนใหญ่ ปฏิเสธการพัฒนาแทน จะนำไปสู่ความสำเร็จ หรือความล้มเหลวมากกว่า กันแน่