ไม่พบผลการค้นหา
รัฐสภาอังกฤษไม่รับรองดีลเบร็กซิตที่นายกรัฐมนตรีไปเจรจากับสหภาพยุโรปมาแล้ว ส่งผลให้อนาคตการออกจากการเป็นสมาชิกอียูยังไม่มั่นคง เช่นเดียวกับอนาคตของรัฐบาล เนื่องจากถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษลงมติคัดค้านข้อตกลงเบร็กซิตด้วยคะแนนเสียง 432 - 202 เสียง ถือเป็นความพ่ายแพ้ของรัฐบาลด้วยคะแนนเสียงที่ต่างกันมากที่สุดในประวัติการณ์ ส่งผลให้การเจรจาเพื่อหาแผนเปลี่ยนผ่านประเทศออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ 'เบร็กซิต' ยังคงไม่ชัดเจน ขณะที่นายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานของอังกฤษก็ยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของนางเทรเซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ

ตามกำหนดการเดิม อังกฤษจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในปี 2022 แต่หากรัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลของนางเมย์ จะทำให้รัฐบาลต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และได้รับการรับรองจากรัฐสภาภายใน 14 วัน แต่หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ก็จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด แต่หากรัฐบาลรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ก็มีแนวโน้มว่า รัฐบาลอาจผลักดันให้มีการลงมติรับรองข้อตกลงอีกครั้งหรือแก้ไขข้อตกลงเดิมนี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่า ที่ผ่านมา พรรคอนุรักษ์นิยมของนางเมย์มีความเห็นเกี่ยวกับข้อตกลงเบร็กซิตที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับนางเมย์มากกว่าการเจรจากับอียูเสียอีก และปัจจุบัน ก็ยังไม่มีข้อตกลงเบร็กซิตแบบไหนได้รับเสียงข้างมากในสภาอังกฤษ จนอาจทำให้ต้องออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ดังนั้น จึงควรมีกลไกที่อนุญาตให้เสียงข้างมากในสภาล่างของอังกฤษจัดการกระบวนการเบร็กซิต หรือไม่ก็ต้องยื่นคำร้องต่ออียูให้มีการขยายเวลาการออกจากอียูออกไปก่อน

ด้านสำนักข่าวบีบีซีคาดการณ์สถานการณ์หลังจากที่รัฐสภาไม่รับรองดีลเบร็กซิตไว้ 5 ทาง

1. ไม่มีข้อตกลงใดๆ กับอียู

หากรัฐสภาอังกฤษไม่รับรองข้อตกลงใดๆ ที่รัฐบาลอังกฤษไปเจรจากับอียู ก็จะทำให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกอียูในวันที่ 29 มี.ค.นี้ โดยไม่มีข้อตกลงใดๆ เลย ส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษจะต้องออกกฎหมายที่มารองรับการเปลี่ยนผ่านโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ เช่น การขึ้นภาษีต่างๆ แต่เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็เพิ่งจะผ่านร่างกฏหมายควบคุมไม่ให้การคลังขึ้นภาษีบางประเภท

2. เจรจาต่อรองข้อตกลงกันใหม่

รัฐบาลอังกฤษอาจเสนอให้มีการเจรจาต่อรองข้อตกลงเบร็กซิตใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าอียูยินดีที่จะเจรจาใหม่ทั้งหมดหรือไม่ หากยอมก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการยืดระยะเวลาการออกจากอียูไปจากกำหนดเดิมที่วันที่ 29 มี.ค.เพื่อเจรจา เสร็จแล้วนำกลับมาให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบใหม่อีกครั้ง

3. ทำประชามติรอบ 2

รัฐบาลอาจต้องยื่นมติให้มีการขยายกำหนดการออกจากเบร็กซิตออกไปจากเดิม และให้รัฐสภาอังกฤษผ่านมติรับรองให้มีการจัดการลงประชามติถามควาเมห็นประชาชนเกี่ยวกับเบร็กซิตอีกครั้ง แต่ที่ผ่านมา นางเมย์เคยยืนยันว่า จะไม่ลงประชามติใหม่ เพราะชาวอังกฤษได้ตัดสินใจเรื่องนี้ไปแล้ว รัฐบาลก็ต้องเคารพเสียงของประชาชน

4. จัดการเลือกตั้งใหม่

นางเมย์อาจยื่นเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาจัดการเลือกตั้งใหม่ หากสมาชิกสภาเกิน 2 ใน 3 ลงมติรับรองให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ก่อนกำหนด จะถือเป็นการหยั่งเสียงว่าประชาชนยังคงเห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลหรือไม่

5. ไม่ออกจากอียูแล้ว

ศาลยุติธรรมยุโรปเคยตัดสินว่า อังกฤษสามารถยกเลิกมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน เพื่อยกเลิกกระบวนการออกจากอียูได้โดยไม่ต้องได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกทั้งหมดอีก 27 ประเทศ แต่แนวโน้มที่อังกฤษจะเลือกหนทางนี้ก็เป็นไปได้น้อย เพราะรัฐบาลยังยืนยันว่าต้องเคารพความเห็ฯของประชาชนที่ไปลงประชามติ

ที่มา : BBC, The Guardian