ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันพระปกเกล้าเปิดโพลเลือกตั้ง รอบที่ 3 พบ คน 92.9% มุ่งมั่นไปใช้สิทธิแน่นอน โดยอายุ 36-45 ปีให้ความสำคัญ ติดตามข่าวสารและสนใจนโยบายพรรคมากกว่าทุกกลุ่มอายุ เชื่อคนใช้สิทธิ์มากกว่าที่ กกต. คาด

สถาบันพระปกเกล้า โดยศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบัน พร้อมด้วย นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการชำนาญการ ร่วมกันแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ครั้งที่ 3 ในประเด็น ความสนใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งและการติดตามข่าวสาร, เกณฑ์ในการตัดสินใจเลือก ส.ส., ความเชื่อมั่นในพลังตัวเองและความมุ่งมั่นในการไปใช้สิทธิ์ รวมถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อการทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ตามโครงการจับตาการเลือกตั้ง 62

ซึ่งจะสำรวจความเห็นทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่ 3 นี้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 10-16 กุมภาพันธ์ 2562 จากการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,540 ตัวอย่าง สัดส่วนชายหญิงใกล้เคียงกัน ใช้การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวและทางโทรศัพท์ คาดว่าจะมีความแม่นยำ 95 % ความคลาดเคลื่อนมาตรฐานไม่เกิน 1.4 %

โดยพบว่า 1.ประชาชนสนใจการเลือกตั้งอย่างมาก ให้คะแนน 8 คะแนนขึ้นไปถึง 57.9 %

มี 6.1% เท่านั้นให้คะแนนความสนใจต่ำกว่า 5 คะแนน ค่าเฉลี่ยโดยภาพรวมอยู่ที่ 7.6 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10

ภาคอีสานมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าทุกภาคคือ 7.79 คะแนนส่วน กทม.อยู่ที่ 7.40

เพศชายให้ความสนใจ 7.64 ส่วนเพศหญิงอยู่ที่คะแนน 7.57 ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกัน

ขณะที่จำแนกตามอายุพบว่าคนอายุระหว่าง 46-60 ปี แสดงความสนใจการเลือกตั้งสูงสุดคือ 7.92 %

อายุ 60 ปีขึ้นไป สนใจ 7.72 % ต่ำสุดคืออายุระหว่าง 18-25 ปี สนใจเพียง 7.34 % โดยช่องทางติดตามข่าวสารทางโทรทัศน์ 51.8% รองลงมาคือโซเชียลมิเดีย 37 %

เมื่อถามว่าเกณฑ์การตัดสินใจเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า เลือกจากตัวผู้สมัคร 34.7%, เลือกจากนโยบายพรรคที่สังกัด 31.4 % เลือกจากพรรคการเมืองที่สังกัด 20.8% และเลือกจากผู้นำพรรคหรือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคที่สังกัด 13.1%

โดยกรุงเทพมหานครเลือกจากตัวผู้สมัครสูงสุด 45 % ส่วนภาคกลางและตะวันออกเลือกจากนโยบายพรรคที่ผู้สมัครสังกัดมากสุด 39% รองลงมาคือภาคอีสาน เลือกจากนโยบาย 35 %

หากจำแนกตามอายุพบว่า กลุ่มอายุระหว่าง 18-25 ปี เลือกนโยบายของพรรคที่ผู้สมัครสังกัดสูงสุด 36.3% เลือกจากตัวผู้สมัคร 34.7%

ขณะที่คนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เลือกจากตัวผู้สมัครสูงสุดคือ 40 % เลือกจากนโยบายน้อยสุด คือ 24 % แต่ทุกกลุ่มอายุเลือกผู้สมัครจากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคน้อยที่สุด คือ ไม่เกิน 16 % ของทุกกลุ่มอายุ โดยนโยบายแก้ปัญหาความยากจนและค่าแรงกับนโยการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ประชาชนให้ความสำคัญมากที่สุด คือ 37.3% และ 23 %ตามลำดับ

ขณะที่ความเชื่อมั่นพลังตัวเองต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ ประชาชนเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า 1 เสียงของตัวเองเปลี่ยนประเทศได้ 48 %, ค่อนข้างเห็นด้วย 37.1 %, ไม่ค่อยเห็นด้วย 12.5 % และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 2.4% กลุ่มอายุที่เชื่อมั่นพลังตัวเองที่สุดอยู่ระหว่าง 36-45 ปี โดยเห็นด้วยอย่างยิ่ง 50.6 % ส่วนคนอายุระหว่าง 18-25 ปี เห็นด้วยอย่างยิ่งเพียง 38.3 % ซึ่งต่ำสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่นๆ  

ส่วนความมุ่งมั่นออกไปใช้สิทธิ พบว่า ไปแน่นอน 92.9% ไม่ไปแน่นอน 1.5%, ส่วนที่ไม่แน่ใจ 5.6.% โดยกลุ่มอายุ 36-45 ปี ไปเลือกตั้งแน่นอนถึง 95.6%, คนอายุระหว่าง 18-25 ปี ไปเลือกตั้งแน่นอนต่ำสุดคือ 90.7% ยังไม่แน่ใจ 8.2% โดยภาคกลางและตะวันออก ไปเลือกตั้งแน่นอนสูงสุด 94.6 % รองลงมาคือภาคอีสาน 94.1 ส่วนกรุงเทพมหานครต่ำสุดคือ 89.5 

สำหรับความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่บริหารจัดการเลือกตั้งของ กกต.พบว่า ประชาขนเชื่อมั่นอย่างมาก 17.4%, ค่อนข้างเชื่อมั่น 4 16.9%, ไม่ค่อยเชื่อมั่น 24%, ไม่เชื่อมั่นเลย 15.3% หากแบ่งตามภาคพบว่า ภาคกลางและตะวันออก เชื่อมั่นอย่างมากสูงสุด 27.3 %, รองลงมาคือภาคเหนือ 22.3 %, ภาคอีสาน 10%, ส่วนกรุงเทพมหานครเชื่อมั่นการจัดการเลือกตั้งของ กกต 5.3 %และไม่ค่อยเชื่อมั่นสูงสุดถึง 55.33% หากแยกตามช่วงอายุพบว่าคนอายุ 46- 60 ปี 67.9 % เป็นกลุ่มที่มีความเชื่อมั่นต่อ กกต. ขณะที่กลุ่มอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 44.5 % เชื่อว่า กกต. จะไม่สามารถบริหารจัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม

โดยศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวว่า ผลสำรวจประชาชนสนใจการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งหากทิศทางการให้ความสำคัญของประชาชนเป็นเช่นนี้ผู้ไปใช้สิทธิ์จะสูงกว่าที่ กกต.ตั้งเป้าไว้คือ 80% ซึ่งเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตามประชาชนยังไม่เข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยเฉพาะการซื้อสิทธิ์ขายเสียงและความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการเลือกตั้ง ที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนอายุ 36-45 ปีให้ความสนใจกับการเลือกตั้งมากที่สุด ทั้งติดตามข่าวสารและเลือกผู้สมัครจากนโยบายของพรรคการเมืองที่สังกัด โดยนโยบายที่คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญคือการแก้ปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจโดยรวม