ผลของงานวิจัยนี้มาจากคนหนุ่มสาว อายุ 16-25 ปี จำนวน 10,000 คน จาก 10 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย โปรตุเกส บราซิล อินเดีย ฟิลิปปินส์ และไนจีเรีย
เยาวชนในประเทศที่ยากจนกว่าอย่างบราซิล อินเดีย และฟิลิปปินส์มีแนวโน้มที่จะรู้สึกกังวลและรู้สึกว่าตนได้รับผลกระทบมากกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยเฉพาะเยาวชนในประเทศฟิลิปปินส์ที่รู้สึกได้รับผลกระทบในประเด็นต่างๆ มากกว่าประเทศอื่นค่อนข้างสูงในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เช่น การคิดว่าอนาคตเป็นสิ่งที่น่ากลัว มนุษยชาติกำลังตกอยู่ในความมืดมน คนรุ่นใหม่มีโอกาสน้อยกว่ารุ่นพ่อแม่ และความปลอดภัยในครอบครัวจะถูกคุกคาม
ความวิตกกังวลจากสภาพภูมิอากาศกำลังเพิ่มมากขึ้นในสังคมทั่วโลก ส่วนหนึ่งมาจากการที่คนตระหนักและรับรู้ปัญหาโลกร้อนมากขึ้น ความวิตกกังวลนี้ส่งผลให้บางคนปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตเพื่อที่จะรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นกับโลกในอนาคต ความวิตกกังวลจากสภาพภูมิอากาศในรายละเอียด ประกอบไปด้วยหลายความรู้สึก เช่นกังวล กลัว โกรธ เสียใจ ละอายใจ สิ้นหวัง งานวิจัยพบว่ากลุ่มเยาวชนคนหนุ่มสาวทั่วโลกเผชิญกับความรู้สึกวิตกกังวลนี้ เพราะพวกเขารับรู้ว่า พวกเขาคือกลุ่มคนที่จะต้องแบกผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คนหนุ่มสาวจำนวนมากรู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตของสภาพสิ่งแวดล้อมโลก มีความกังวลจากผู้ทำวิจัยว่า ความวิตกกังวลนี้อาจะส่งผลให้เกิดความเครียดสั่งสมและส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจของคนหนุ่มสาว
นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มมากขึ้น มาจากการตอบสนองและดำเนินนโยบายของรัฐบาลในประเทศต่างๆ
60% ของเยาวชนที่ทำแบบสำรวจในงานวิจัยรู้สึกถูกเพิกเฉยและไม่รับฟังโดยรัฐบาลและผู้ใหญ่ที่ไม่ทำอะไรเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เกือบ 70% ของเยาวชนไม่ไว้ใจรัฐบาลของตนเอง และคิดว่ารัฐบาลยังไม่ดำเนินการเพียงพอที่จะปกป้องคนรุ่นใหม่และโลก
มิทซี แทน นักกิจกรรมจากฟิลิปปินส์อายุ 23 ปี ผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางภูมิอากาศบอกว่าความวิตกกังวลเรื่องภูมิอากาศกำลังเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนหนุ่มสาว
“ฉันเติบโตขึ้นมาด้วยความกลัวว่าวันหนึ่งฉันจะจมน้ำตายในห้องนอนของตัวเอง สังคมบอกฉันว่าความวิตกกังวลนี้เป็นความกลัวที่ไร้เหตุผล เป็นความกลัวที่การนั่งสมาธิหรือการมีทักษะการรับมือทางจิตวิทยาที่ดีจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่รากลึกที่สุดของความวิตกกังวลที่คนหนุ่มสาวมีต่อวิกฤตภูมิอากาศมาจากความรู้สึกถูกหักหลังโดยรัฐบาลที่ไม่ทำอะไรเลยต่างหาก จะแก้ความกังวลที่เรามีตอนนี้ได้ เราจะต้องได้รับความเป็นธรรม”
ลุยซา ไนบาร์ นักกิจกรรมด้านภูมิอากาศ อายุ 25 ปีจากประเทศเยอรมนี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะการ์เดียนว่า มันเป็นเรื่องปกติไปแล้วในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รู้สึกกังวลกับการมีลูก ลุยซาเป็นหนึ่งในนักกิจกรรมที่ฟ้องรองต่อศาลจนได้รับชัยชนะ ในการบังคับให้รัฐบาลเยอรมันพิจารณานโยบายด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมใหม่
“ฉันเจอคนรุ่นใหม่ผู้หญิงจำนวนมากที่ตั้งคำถามว่า มันยังโอเคไหมที่จะมีลูก มันดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ไม่ซับซ้อนอะไร แต่มันกำลังบอกอะไรเราเยอะมากเกี่ยวกับความเป็นจริงของสภาพภูมิอากาศที่เรากำลังอาศัยอยู่ พวกเราคนหนุ่มสาวตระหนักแล้วว่า แค่วิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไร ตอนนี้พวกเราเปลี่ยนความกังวลส่วนตัวให้กลายเป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขของคนรุ่นใหม่ พวกเราต่อสู้ทั่วโลก ทั้งบนถนน ในศาล ทั้งในและนอกโรงเรียน แต่รัฐบาลทั่วโลกก็ยังทำให้เราผิดหวัง การปล่อยมลพิษยังคงเพิ่มมากขึ้น การตอบสนองต่องานวิจัยนี้ที่เหมาะสมที่สุด คือการที่รัฐบาลลงมือทำในสิ่งที่เคยสัญญาไว้”
ไม่นานมานี้องค์การยูนิเซฟรายงานว่าเด็กและเยาวชนคือคนที่จะต้องแบกรับผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีเด็กกว่าพันล้านคนที่อยู่ในสภาวะ 'เสี่ยงอย่างมาก' ต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
การประชุม Cop26 UN climate summit ที่กำลังจะจัดขึ้นในเมืองกลาสโกว์ สก็อตแลนด์ เดือนพฤศจิกายนนี้ ฟร็องซัว ออล็องด์ อดีตประธานาธิบดีประเทศฝรั่งเศสในสมัยที่มีการผลักดันให้เกิดความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 กระตุ้นให้รัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
“ผ่านมาหกปีแล้วตั้งแต่เรามีความตกลงปารีส เราต้องตื่นและตระหนักถึงอันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่เฉพาะที่ส่งผลต่อโลกของเรา แต่ผลกระทบของมันที่มีต่อคนรุ่นใหม่ของเราด้วย เราต้องลงมือแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ทำทุกอย่างที่เราทำได้เพื่อมอบอนาคตให้กับคนหนุ่มสาวของเรา”
อ้างอิงงานวิจัย
Marks, Elizabeth and Hickman, Caroline and Pihkala, Panu and Clayton, Susan and Lewandowski, Eric R. and Mayall, Elouise E. and Wray, Britt and Mellor, Catriona and van Susteren, Lise, Young People's Voices on Climate Anxiety, Government Betrayal and Moral Injury: A Global Phenomenon. Available at SSRN: https://ssrn.com/abstract=3918955 or http://dx.doi.org/10.2139/ssrn.3918955