ไม่พบผลการค้นหา
รมว.แรงงาน ยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ต่อผู้อำนวยการใหญ่ ILO แสดงเจตจำนงของรัฐบาลไทยยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองการทำงานบนเรือประมงของแรงงานไทยและต่างด้าวสอดคล้องมาตรฐานสากล

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา พร้อมด้วย นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะ ยื่นสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง พ.ศ.2550 ต่อ นายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เป็นผู้ต้อนรับและรับสัตยาบันสาร ณ ห้อง Cabinet สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส 

รมว.แรงงาน กล่าวถึงเจตจำนงของรัฐบาลไทยในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 188 ว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาคประชาชน ภาควิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นพ้องว่า การให้สัตยาบันจะเป็นประโยชน์ทั้งกับแรงงาน นายจ้าง และภาพลักษณ์ของภาคประมงไทยและสินค้าประมงไทย

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองการทำงานบนเรือประมงของทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวให้ดียิ่งขึ้นและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และป้องกันความเสี่ยงที่แรงงานจะตกอยู่ในสภาพแรงงานบังคับ

เนื่องจากอนุสัญญาจะช่วยสร้างหลักประกันให้เกิดสภาพการทำงานที่มีคุณค่าแก่แรงงานประมง เช่น การกำหนดชั่วโมงการทำงาน คุณภาพที่พักอาศัย อาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล ระบบการตรวจแรงงานและความเป็นอยู่บนเรือประมง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการทำประมงที่มีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล และยังดึงดูดแรงงานให้เข้ามาทำงานในภาคประมงมากขึ้น อันจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงต่อไปด้วย

ส่วนความเชื่อมโยงกับการปลดใบเหลืองนั้น รัฐบาลไทยได้ผลักดันการทำงานเพื่อระดับการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา IUU มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยมีการทำการประมงอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของรัฐบาล โดยมีการดำเนินมาตรการหลายประการ รวมถึงการจัดระเบียบการทำประมงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการให้สัตยาบันพิธีสารของอนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และอนุสัญญาฉบับที่ 188 จะมีผลทำให้มาตรการทางกฎหมายและการบังคับใช้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก และเชื่อมั่นว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยได้รับการเลื่อนลำดับประเทศที่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์จาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 2 ในปีที่ผ่านมา

และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2562 สหภาพยุโรปได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทย อันแสดงถึงการยอมรับต่อความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหา IUU ของไทย ซึ่งมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไทยได้รับสถานะใบเหลืองเมื่อปี 2558 จนประสบความสำเร็จในการยกระดับอุตสาหกรรมการประมงของไทยทั้งระบบในปัจจุบัน ซึ่งทำให้สหภาพยุโรปยอมรับ ขณะนี้ไทยมีกลไกแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่เข้มแข็งที่สุดในภูมิภาค และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศต่าง ๆ ที่มีปัญหาเดียวกันได้

นายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ ILO ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญในโอกาสที่ประเทศไทยได้เข้ายื่นสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ในครั้งนี้ ได้แก่ 1) ขอบคุณ และแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งการที่ประเทศไทยให้สัตยาบันในครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงความสำคัญในการคุ้มครองแรงงานประมง ทั้งนี้ ILO พร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยที่แสดงถึงความเข้มแข็งในการคุ้มครองแรงงานประมงครั้งนี้ ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติขึ้นไปอีก

2) และเนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 100 ปีของ ILO ซึ่งจะมีการจัดการประชุม ILC ครั้งที่ 108 ในเดือนมิถุนายน 2562 ที่จะถึงนี้ ณ กรุงเจนีวา ILO ได้เรียนเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นเกียรติแก่ ILO ในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย 3) นอกจากนี้ ILO ยังได้ให้การสนับสนุนบทบาทของประเทศไทยอย่างเต็มที่ในการทำกิจกรรมในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในครั้งนี้อีกด้วย

พล.ต.อ.อดุลย์ ยังกล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้รองรับกับอนุสัญญา ฉบับที่ 188 นั้น ขณะนี้ประเทศไทยมีกฎหมายภายในที่สอดคล้องอยู่แล้ว 11 เรื่อง ส่วนที่ยังไม่สอดคล้องอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบทของประมงไทยอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง