เปิดใจผู้ประสานงานสมัชาคนจน ในวันที่เขาเป็นหนึ่งในรายชื่อเอกสารหลุด ซึ่งคาดว่าเป็นผู้ถูกออกหมายจับ จากการเข้าร่วมกิจกรรม 'เยาวชนปลดแอก' เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ที่เป็นชุมนุมครั้งใหญ่หลังสถานการณ์โควิด-19 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องรัฐบาล 3 ข้อ คือ 1.ยุบสภา 2.หยุดคุกคามประชาชน 3.ร่างรัฐธรรมนูญ
'บารมี ชัยรัตน์' ผู้อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวได้พูดคุยกับ 'วอยซ์ออนไลน์' ถึงคำถามที่ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ภายหลังที่มีการเผยแพร่เอกสารดังกล่าว เขาเล่าว่าเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ตนได้เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่มีการจัดชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อจบกิจกรรมจึงได้เดินทางกลับที่พักตามปกติ อย่างไรก็ตามในระหว่างเส้นทาง หนึ่งในผู้อยู่ในรายชื่อถูกออกหมายจับ รู้สึกได้ว่ามีคนขับรถเก๋งติดตาม จึงได้เปลี่ยนเส้นทาง แต่รถคันดังกล่าวยังคงตามมา ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าได้เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ และกำลังถูกคุกคาม
บารมี เล่าต่อว่าเขาใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง กว่าจะหาทางหลุดพ้นจากการติดตาม ต่อมาเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 11 ส.ค. ได้เดินทางออกจากบ้านเพื่อไปทำงานปกติ แต่่ได้สังเกตเห็นมีบุคคลเฝ้ามองเขาอยู่ ก่อนที่จะขับรถถึงสำนักงาน ยังพบว่าชายคนดังกล่าวได้ขับรถจักรยานยนต์ติดตามมา จึงได้ให้คนเดินไปถามว่าเป็นใครทำไมถึงติดตามและเขาได้ถ่ายภาพชายคนดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน แต่ชายที่เฝ้าติดตามก็ไม่ได้ให้คำตอบและได้ขับรถจักรยานตร์หนีไป
โดยห้วงทศวรรษที่ผ่านมา 'บารมี' อยู่ในแวดวงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนมาอย่างยาวนาน และคงไม่พ้นการถูกกล่าวจนไปสู่การออกหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่นเดียวกับกรณีล่าสุด เขายืนยันว่า "ไม่ได้รู้สึกกังวลเลยที่จะถูกดำเนินคดี แต่ห่วงว่าจะมีการคุกคามสิทธิเสรีภาพ"
ก่อนเน้นย้ำว่า "ผมพร้อมคุยด้วยอยู่แล้วหากมาติดตามอย่างปกติ ไม่ใช่ถามแล้วไม่ตอบ โดยไม่รู้ว่าเป็นใครถึงมาติดตาม หากผมอารมณ์ร้อนขึ้นมา ไปทำอะไรเขาเดี๋ยวมันก็เป็นเรื่องอีก"
เมื่อได้คำตอบแล้วจึงยิงถามต่อว่าทำไมโพสต์เฟซบุ๊กว่าพี่น้องหลายคนมองว่าการถูกคุกคามมันเป็นเรื่องสนุก 'บารมี' บอกว่าเขารู้สึกหงุดหงิดและได้ให้คำตอบเพียงสั้นๆแต่จบประเด็นทิ้งท้ายว่า "เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องตลก"
'ไอลอว์' ประมวลการคุกคาม 'เยาวชน' ทหารบุกบ้าน-อุ้มเข้าค่าย-สกัดร่วมม็อบ
ถือเป็นปรากฎการณ์ครั้งใหญ่ของการละเมิดสิทธิ เยาวชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน นับตั้งแต่การลั่นระฆังชุมนุมแฟลชม็อบเมื่อวันที่ 18 ก.ค. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ได้รวบรวมการละเมิดสิทธิทั้งหมด 50 กรณี ซึ่งรวมกรณีเปิดเผยได้ตามรายงานฉบับนี้ 37 กรณี และกรณีที่ผู้ถูกคุกคามไม่ให้เปิดเผย 13 กรณี (อ่านรายละเอียดทั้งหมด) โดยกรณีล่าสุดมีรายงานว่า วันที่ 11 ส.ค. ได้เกิดเหตุการณ์ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยเกิดขึ้น 4 เคสในวันเดียว ประกอบไปด้วย
เคสที่ 1. เวลาประมาน 11.00 น. มีเจ้าหน้าที่จากฝ่ายความมั่นคง จำนวน 4 นาย เข้าพบผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ต.ลำใหม่ จ.ยะลา เพื่อพามาพบ 'ซูรัยยา วาหะ' ฝ่ายการต่างประเทศ สหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานี ( PerMAS) และเป็นหนึ่งในคนที่ขึ้นปราศรัยที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ไม่พบเจ้าตัว โดยมีการขอบัตรประชาชนมารดาแต่ปฏิเสธการให้ โดยอ้างว่าถูกนายสั่งมา