ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองและมวลชนบางฝ่าย หลังจากพรรคเพื่อไทยเปิดตัว แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยข้อวิจารณ์หลักๆ ต่างหนีไม่พ้นเงาสะท้อนของแพทองธารกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา

“(การพาคุณพ่อกลับบ้าน) เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ความสำคัญหลัก ความสำคัญหลักตอนนี้ของประเทศเรา คือปากท้อง คือเศรษฐกิจ คือปัญหาของพี่น้องประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ปัญหาของครอบครัวอิ๊ง แต่เป็นปัญหาของประเทศ เราควรจะให้ความสำคัญตรงนั้น” แพทองธารตอบผู้สื่อข่าวถึงคำถามที่มวลชนบางกลุ่มคาดการณ์ว่าการขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยของเธอ อาจมีนัยสำคัญโดยตรงกับอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างทักษิณ ผู้ที่ถูกกองทัพทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 จนต้องลี้ภัยการเมืองจากการถูกตั้งข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรม

แพทองธาร ชินวัตร_ประชุมพรรคเพื่อไทย_016.jpg

การขึ้นมาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยของแพทองธาร นำมาซึ่งกระแสการพูดถึงพรรคเพื่อไทยที่พุ่งสูงขึ้น ไม่รวมถึงการคาดการณ์และความหวังของกลุ่มคนหลายฝ่ายที่มองว่า เธออาจขึ้นมาเป็นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย และอาจทำให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองต่อจากผู้เป็นอาของเธออย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ที่ก็ถูกกองทัพทำรัฐประหารด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี แพทองธารเปิดเผยว่าเธอยังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว และการทำงานทางการเมืองของเธอกับพรรคเพื่อไทยเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

การเมืองว่าด้วยเรื่องครอบครัวไม่ได้เป็นสิ่งแปลกใหม่ในสังคมโลก โดยเฉพาะสังคมการเมืองเอเชียที่ประสบกับอุปสรรคในการพัฒนาประชาธิปไตยและปัญหาการแบ่งแยกกันในทางการเมือง วอยซ์ขอพาคุณสำรวจทายาทผู้นำทางการเมืองในเอเชีย จากการเป็นแค่ลูกผู้นำประเทศ สู่การขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศด้วยตนเองผ่านการเลือกตั้ง ลูกผู้เป็นทั้งความหวังใหม่ของคนในชาติ และลูกที่เป็นภาพสะท้อนมรดกทางการเมืองของผู้เป็นพ่อและแม่

ทายาท การเมือง เอเชีย


ประธานาธิบดีเมกาวาตี บุตรสาวประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนิเซีย

เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี หรือที่แปลเป็นไทยว่าลูกสาวของซูการ์โน ผู้ซึ่งรวมชาติอินโดนีเซียให้กลายเป็นปึกแผ่น และกลายมาเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซีย ก่อนที่ซูการ์โนจะถูกซูฮาร์โตเข้าทำรัฐประหารและขึ้นครองเก้าอี้ประธานาธิบดีอินโดนิเซียยาวนานสืบเนื่องมาเป็นเวลากว่า 31 ปี อย่างไรก็ดี เมกาวาตีได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของอินโดนีเซียในเวลาต่อมา

ในช่วงเวลาวัยรุ่นของเมกาวาตี เธอเติบโตมาพร้อมๆ กับภาพของการที่พ่อของเธออย่างซูการ์โนถูกคุมขังอยู่ใน้บ้านของตนเอง หลังจากที่ถูกชายที่พ่อของเธอไว้ใจที่สุดเข้าทำรัฐประหารและบังคับให้ประธานาธิบดีผู้รวมชาติอินโดนีเซียลาออกจากตำแหน่ง 5 ปีหลังจากที่ซูการ์โนถูกทำรัฐประหาร ร่างกายของผู้เป็นพ่อของเมกาวาตีเริ่มทรุดโทรมจนเสียชีวิตลงในปี 2513 ทศวรรษต่อมา ฟัตมาวาตี ผู้เป็นแม่ของเธอก็กลับเสียชีวิตลงตามไปอีกคน ทิ้งให้เด็กทั้งห้าคนรวมถึงเมกาวาตีกลายเป็นลูกกำพร้า

AFP - เมกาวาตี ซูการ์โน

เมกาวาตีเติบโตมาในยุคที่อินโดนีเซียมีเผด็จการที่เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์จนสั่งสังหารผู้คนไปจำนวนกว่าแสนราย ทั้งนี้ เมกาวาตีเคยพูดกับเพื่อนของเธอว่า ตัวเธอไม่เคยคิดอยากจะเป็นประธานาธิบดี ก่อนระบุว่าเพราะการที่มีซูฮาร์โตขึ้นมาปกครองทำให้เธอไม่สามารถเรียนหนังสือ หาเงิน และมีงานทำได้ จากการปกครองที่กดขี่และจำกัดสิทธิของลูกๆ อดีตผู้นำคนแรก

ในปี 2530 เมกาวาตีตัดสินใจลงรับสมัครเลือกตั้ง ก่อนจะได้รับเลือกจากประชาชนเข้าไปเป็นสมาชิกฝ่ายค้านของรัฐสภาอินโดนีเซีย ก่อนที่บุตรสาวของประธานาธิบดีคนแรกจะกลายมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี การทำงานเป็นฝ่ายค้านภายใต้รัฐบาลเผด็จการของซูฮาร์โตไม่ราบรื่นนัก แต่ในทางตรงกันข้าม กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในอินโดนีเซียกำลังลุกโชน ซูฮาร์โตไม่สามารถยื้อเก้าอี้ของตนเองท่ามกลางการประท้วงของประชาชนอย่างหนักได้ เขาลาออกในปี 2541

อินโดนีเซียเปลี่ยนประธานาธิบดีกว่าอีก 2 ครั้งหลังจากซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่ง วิกฤตทางการเมืองและการพัฒนาประชาธิปไตยของอินโดนีเซียกำลังผลิดอกออกใบจนกระทั่งในปี 2544 เมกาวาตีจึงได้รับเลือกขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ห้าของอินโดนีเซีย ก่อนรับช่วงต่อในการเปลี่ยนผ่านอินโดนีเซียสู่ระบอบประชาธิปไตย ท่ามกลางความคาดหวังจากมวลชนคนรักซูการ์โน ผู้เป็นบิดาของเธอที่เปรียบเสมือนเป็นบิดาแห่งอินโดนีเซีย เมกาวาตีมีส่วนอย่างมากในการเปลี่ยนผ่านอินโดนีเซียให้กลายเป็นประชาธิปไตยอย่างในปัจจุบัน


ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน บุตรชายประธานาธิบดีคอราซอน อากีโนแห่งฟิลิปินส์

เบนิโญ อากีโน ที่ 3 ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 15 ของฟิลิปินส์ เบนิโญเป็นบุตรชายของ คอราซอน อากีโน ประธานาธิบดีคนที่ 11 และประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ คอราซอนกลายเป็นผู้นำหญิงคนเด่นของฟิลิปปินส์ จากการที่เธอขึ้นครองอำนาจฟิลิปปินส์ต่อจากเผด็จการชื่อกระฉ่อนอย่าง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

เบนิโญเติบโตมาในครอบครัวนักการเมือง โดยคอราซอนผู้เป็นแม่แต่งงานกับพ่อของเขาอย่าง เบนิโญ อากีโน จูเนียร์ สมาชิกวุฒิสภาของฟิลิปปินส์ ผู้ที่เป็นนักวิจารณ์เผด็จการมาร์กอสเป็นอันดับต้นๆ ของฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ในปี 2526 เบนิโญจูเนียร์ถูกลอบสังหารหลังจากเดินทางกลับมาจากการลี้ภัยในสหรัฐฯ กว่า 3 ปี ผู้เป็นแม่และภรรยาอย่างคอราซอนตัดสินใจลุกขึ้นสู้รัฐบาลเผด็จการจนเธอกลายมาเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านในเวลาต่อมา

AFP - บนิโญ คอราซอน อากีโน

ในปี 2528 มาร์กอสตัดสินใจประกาศให้จัดการเลือกตั้งก่อนครบวาระ เพื่อหวังจะสืบทอดอำนาจตนเองต่อไป คอราซอนประกาศลงแข่งขันท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากเผด็จการแห่งฟิลิปปินส์ การเลือกตั้งจัดขึ้นในไม่กี่เดือนต่อมา มาร์กอสกลับใช้วิธีกลโกงเพื่อทำให้ตนเองชนะเลือกตั้ง คอราซอนตัดสินใจลุกขึ้นสู้อีกครั้งในฐานะผู้นำมวลชนภายใต้ชื่อกลุ่มพลังประชาชนปฏิวัติเพื่อขับไล่เผด็จการด้วยสันติวิธี ตามมาด้วยการสนับสนุนของกองทัพและศาสนจักรของฟิลิปปินส์เพื่อร่วมกันขับไล่เผด็จการมาร์กอสออกจากเก้าอี้สำเร็จ

คอราซอนขึ้นปกครองฟิลิปปินส์โดยที่ไม่มีการจัดการเลือกตั้ง โดยอาศัยผลจากการเลือกตั้งที่ถูกโกงไปจากมาร์กอสเป็นความชอบธรรม เธอกลายมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์ คอราซอนปฏิรูประบบโครงสร้างทางการเมืองของประเทศ แก้รัฐธรรม จนสามารถขจัดระบอบเผด็จการออกจากฟิลิปปินส์ได้ ท่ามกลางความพยายามในการทำรัฐประหารต่อรัฐบาลของเธอหลายครั้ง แต่ก็พบกับความล้มเหลวตลอด เธอสามารถส่งต่ออำนาจสู่รัฐบาลเลือกตั้งต่อไป และกลับมาใช้ชีวิตพลเรือนตามปกติจนเสียชีวิตลงเมื่อปี 2552

การต่อสู้ของผู้เป็นแม่ส่งผลให้เบนิโญตัดสินใจลงเล่นการเมือง ก่อนที่จะได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2541 และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ในเวลาต่อมา หลังจากการจัดงานศพของผู้เป็นแม่เพียงปีเดียว ในปี 2553 เบนิโญตัดสินใจลงสมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศก่อนได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีจากตระกูลอากีโนคนที่สอง เบนิโญเสียชีวิจลงเมื่อปี 2561 จากอาการป่วยเรื้อรัง


ประธานาธิบดีพัคกึนฮเย บุตรสาวประธานาธิบดีพัคจองฮีแห่งเกาหลีใต้

พัคกึนฮเย ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้ อาจแตกต่างไปจากประธานาธิบดีทั้งสองที่กล่าวไปในข้างต้น เพราะเธอเป็นลูกสาวของอดีตผู้นำเผด็จการอย่าง พัคจองฮี ผู้นำคณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลชุดเดิมในปี 2504 เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน พัคได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2506 เขาขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีพร้อมกับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ภายใต้คำขวัญการพัฒนาชาติว่า “ทำให้ปิตุภูมิทันสมัย”

รัฐบาลเกาหลีใต้ของพัคผู้พ่อส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจให้แก่ประชาชน ภายใต้นโยบายการเติบโตอย่างแบ่งปัน (Shared Growth) ผ่านการปฏิรูประบบที่ดิน ซึ่งยังผลให้กลุ่มอำนาจเก่าในเกาหลีใต้ถูกลดทอนอิทธิพลลง แต่สิ่งนี้กลับทำให้รัฐบาลของเกาหลีใต้เพิ่มอำนาจให้กับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับการกดขี่แรงงาน และจำกัดสิทธิประชาชน

AFP - พัคกึนฮเย พัคจองฮี พัค

ตลอดการปกครองของประธานาธิบดีพัค เศรษฐกิจของเกาหลีใต้พัฒนาอย่างมากในทศวรรษที่ 2500-2510 แต่การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมผ่านลัทธิทุนนิยม กลับเอื้อผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุนและประชาชนที่โอนอ่อนผ่อนตามต่อระบบเผด็จการเท่านั้น การปกครองที่บิดเบี้ยวส่งผลให้เกิดการลุกขึ้นประท้วงขับไล่รัฐบาลจากประชาชน เยาวชน และแรงงานผู้ถูกกดขี่อยู่เรื่อยมา อย่างไรก็ดี หว่างการประท้วงของนักศึกษา พัคถูกลอบสังหารลงในปี 2522

พัคผู้ลูกใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นโดยรับรู้ถึงการปกครองของพ่อของเธอ ที่ถูกมองว่าเป็นผู้นำเผด็จการของประเทศในเอเชียอีกแห่งหนึ่ง พัคกึนฮเยเริ่มชีวิตทางการเมืองของเธอในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมในปี 2547 เธอลงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ในปี 2555 ท่ามกลางข้อครหาว่าเธอจะปกครองเกาหลีใต้ไม่ต่างไปจากเผด็จการผู้เป็นพ่อ อย่างไรก็ดีในตอนหาเสียง พัคผู้ลูกก้มโค้งต่อหน้าประชาชนพร้อมประกาศขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปกครองสมัยพ่อของเธอ

พัคกึนฮเยได้รับการเลือกตั้งและขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในปี 2556 เกาหลีใต้ภายใต้การนำของเธอกลายเป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นบนเวทีโลก เธอถูกจัดให้เป็น 100 หญิงทรงอิทธิพลของโลกในอันดับที่ 11 เธอยังได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้นำหญิงแห่งเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ดี พัคถูกดำเนินคดีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันและการใช้อำนาจโดยมิชอบ ก่อนจะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งในปี 2560 ทั้งนี้ พัคได้รับอภัยโทษและถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา


อองซาน ซูจี บุตรสาวนายพลอองซานแห่งเมียนมา

อองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งเมียนมา ผู้ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีของเมียนมาในทางนิตินัยจากเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ตำแหน่งมุขมนตรีของเธอไม่ต่างอะไรไปจากการเป็นผู้นำในทางพฤตินัยของเมียนมา อย่างไรก็ดี อองซาน ซูจี กำลังถูกคุมขังภายใต้คำสั่งของคณะรัฐประหารกองทัพเมียนมาที่ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนไปเมื่อ ก.พ.ปีก่อน

เมื่ออองซาน ซูจีมีอายุได้เพียงแค่ 2 ขวบ พ่อของเธออย่างนายพลอองซานกลับถูกลอบสังหารหลังจากการชนะการเลือกตั้งในปี 2450 ทั้งๆ ที่เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการสู้เพื่อเอกราชของเมียนมา และเป็นผู้ประสานให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเมียนมาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในอนาคต นำพาให้เมียนมาไหลวนเข้าสู่วิกฤตทางการเมือง

AFP - อองซาน ซูจี อองซาน

อองซานเป็นแกนนำกลุ่มสันนิบาตเสรีภาพประชาชนต่อต้านฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นกลุ่มชาตินิยมของเมียนมา ในการสู้รบเพื่อประกาศเอกราชของตนเองออกจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และขับไล่ญี่ปุ่นที่เข้ามาทำสงครามในเมียนมาเพื่อปูทางไปสู่การรุกจีนและอินเดียในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง

อองซานร่วมสู้รบจนชนะและทำข้อตกลงกับชนกลุ่มน่อยในเมียนมาเพื่อเปลี่ยนผ่านเมียนมาสู่ประชาธิปไตย และเตรียมการในการประกาศการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยในอนาคต อย่างไรก็ดี ความคิดริเริ่มของอองซานกลับไม่เป็นที่พอใจของกองทัพเมียนมา รัฐบาลเมียนมาเปลี่ยนผ่านสู่มือของเผด็จการเนวินหลังจากการลอบสังหารอองซานได้เพียงแค่ 2 ปี

อองซาน ซูจี ในฐานะลูกสาวของบิดาแห่งเมียนมาอย่างนายพลอองซานกลายมาเป็นตัวตั้งตัวตีในการขับไล่ระบอบเผด็จการในปี 2531 นำมาซึ่งเหตุการลุกฮือ 8888 เธอก่อตั้งพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ก่อนที่จะคว้าคะแนนเสียงในสภาอย่างถล่มทลาย แต่กองทัพเมียนมากลับไปยอมปล่อยอำนาจออกจากมือง่ายๆ การชนะอีกครั้งในปี 2558 ทำให้กองทัพเมียนมายอมถอยหลังหนึ่งก้าว เธอขึ้นปกครองประเทศด้วยความพยายามในการเปลี่ยนเมียนมาให้เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ต้องถูกกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจไปอีกครั้งเมื่อปีก่อน


นายกรัฐมนตรีเบนาซีร์ บุตโต บุตรสาวนายกรัฐมนตรีซัลฟิการ์ อาลี บุตโตแห่งปากีสถาน

เบนาซีร์ บุตโต หญิงมุสลิมรายแรกที่กลายมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศมุสลิม นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของปากีสถานรายนี้เกิดขึ้นในครอบครัวชนชั้นนำทางการเมือง เบนาซีร์ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศก่อนจะเดินทางกลับมายังปากีสถานหลังจากผู้เป็นพ่อของเธออย่าง ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต เพิ่งชนะการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ซัลฟิการ์ อาลี ผู้เป็นพ่อของเบนาซีร์ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีของปากีสถานในปี 2516 ด้วยแนวนโยบายหัวก้าวหน้าสังคมนิยม นอกจากนี้ ระหว่างปี 2514-2516 ซัลฟิการ์ อาลีเคยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของปากีสถานมาก่อน

ผู้เป็นพ่อของเบนาซีร์เป็นบุคคลที่ได้รับเสียงวิจารณ์แตกต่างกันออกไปในหลายฝ่าย โดยการดำเนินนโยบายของซัลฟิการ์ อาลีในประเทศมุสลิมอย่างปากีสถานนั้น ซัลฟิการ์ อาลีกลับเลือกแนวนโยบายที่เน้นความเป็นชาตินิยม และความคิดแบบสากลนิยมเชิงโลกวิสัย แต่ในทางตรงกันข้าม ซัลฟิการ์ อาลีถูกวิจารณ์ว่าเขามีการกำจัดคู่แข่งทางการเมือง ตลอดจนละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี ซัลฟิการ์ อาลีได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของปากีสถาน

AFP - เบนาซีร์ บุตโต ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต

แต่ความรุ่งโรจน์ของซัลฟิการ์ อาลีก็มีวันเสื่อมคลาย เขาถูกกองทัพปากีสถานเข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจ ก่อนที่จะถูกจับกุมคุมขังและตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยข้อหาการวางแผนลอบสังหารคู่แข่งทางการเมืองของตน ซัลฟิการ์ อาลีถูกประหารด้วยการแขวนคอในปี 2522 ทั้งนี้ ซัลฟิการ์ อาลีปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเป็นเพียงแค่การกลั่นแกล้งในทางการเมือง

เบนาซีร์ที่เดินทางกลับมายังปากีสถานกลับต้องมาพบกับจุดจบชีวิตของผู้เป็นพ่อ เธอถูกรัฐบาลเผด็จการของ โมฮัมหมัด เซีย อุล ฮัก สั่งจำคุกกว่าหลายครั้งก่อนที่เธอจะลี้ภัยและกลับมายังปากีสถานอีก ในเวลาต่อมา เธอจะชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2531 เบนาซีร์ถูกโจมตีว่าเธออ่อนประสบการณ์ ทุจริต และถูกกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยมต่อต้านอย่างหนัก เธอตัดสินใจลี้ภัยอีกครั้งในปี 2542 เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว

ผู้นำหญิงแห่งโลกมุสลิมคนนี้เดินทางกลับมายังปากีสถานอีกครั้งในปี 2550 ท่ามกลางเสียงเชียร์ของประชาชนจำนวนมากที่มองว่าเธอเป็นความหวังของปากีสถาน เบนาซีร์ประกาศว่าเธอจะลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งที่สาม แต่เรื่องน่าเศร้าก็เกิดขึ้นหลังจากที่เธอออกหาเสียงพบปะประชาชน เบนาซีร์ถูกลอบสังหารด้วยคนร้ายจากกลุ่มตาลีบันปากีสถานที่กดระบิดฆ่าตัวตาย เบนาซีร์เสียชีวิตก่อนที่จะถึงโรงพยาบาล ร่างของเธอถูกนำไปฝังอยู่ข้างกันกับผู้เป็นพ่ออีกครั้ง


นายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธี บุตรสาวนายกรัฐมนตรีชวาหะร์ลาล เนห์รูแห่งอินเดีย 

อินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของอินเดียในปัจจุบัน ในสายตาของปากีสถานและบังคลาเทศ เธออาจเป็นศัตรูตัวฉกาจ และผู้ที่รวมศูนย์อำนาจเอาไว้ที่รัฐบาลกลางของอินเดียมากเป็นอันดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์การปกครองตนเองหลังจากรับเอกราช แต่สำหรับประชาชนชาวอินเดียเธอไม่ต่างอะไรไปจากนักชาตินิยม หญิงแกร่งผู้นำพาอินเดียไปสู่ความรุ่งโรจน์ เธอได้รับฉายาว่าเป็น “หญิงแห่งสหัสวรรษ” โดย BBC ในปี 2542

อินทิราเป็นบุตรสาวของ ชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ผู้ซึ่งเป็นนักต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ ชวาหะร์ลาลยังเป็นผู้นำในขบวนการชาตินิยมอินเดียมากันกับ มหาตมะ คานธี นักสันติวิธีผู้ร่วมกันเรียกร้องเอกราชให้อินเดียจากอังกฤษจนสำเร็จในปี 2490

AFP - อินทิรา คานธี ชวาหะร์ลาล เนห์รู

ชวาหะร์ลาลปกครองอินเดียในฐานะนายกรัฐมนตรีสืบเนื่องยาวนานถึง 17 ปี ด้วยแนวนโยบายที่สนับสนุนระบบรัฐสภาประชาธิปไตย แนวคิดโลกวิสัย ตลอดจนการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การเป็นนักการเมืองและผู้นำประเทศของชวาหะร์ลาลถูกถ่ายทอดมายังอินทิรา ลูกสาวคนเดียวของตน

ตั้งแต่ช่วงปี 2490-2507 อินทิราเดินทางร่วมกับพ่อของเธอไปยังต่างประเทศมากมาย เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาแห่งชาติอินเดียในปี 2502 จนเมื่อชวาหะร์ลาลผู้เป็นพ่อเสียชีวิตลง เธอได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาสูงของอินเดีย เธอเดินหน้างานทางการเมืองต่อก่อนขึ้นปกครองประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2509 ถึง 2520 และอีกครั้งในปี 2523 ถึงปี 2527 เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดรองจากผู้เป็นพ่อของเธอ

ในการกลับคืนสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งในครั้งที่สอง อินทิรายังคงเดินหน้านโยบายรวมศูนย์อำนาจจนทำให้อินเดียกลายเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียใต้ ภายใต้แนวคิดชาตินิยมของคนฮินดู อินทิราสั่งล้อมวิหารทองคำ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาซิกข์หลังจากกรณีความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับชาวซิกข์ โดยปฏิบัติการในครั้งนี้มีชื่อเรียกว่าปฏิบัติการดาวน้ำเงิน ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวซิกข์จนนำมาสู่การลอบสังหารอินทิราบริเวณหน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีในปี 2527 ด้วยฝีมือองครักษ์ส่วนตัวของเธอที่เป็นกลุ่มชาตินิยมซิกข์ ปิดตำนานหญิงแกร่งแห่งอินเดียลงด้วยกระสุน 30 นัด


นายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี บุตรชายนายกรัฐมนตรีอินทิรา คานธีแห่งอินเดีย

ราจีฟ คานธี บุตรชายของอินทิรา คานธี เดินทางกลับมายังอินเดียหลังจากการศึกษาในสหราชอาณาจักรในปี 2509 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับปีที่แม่ของเขาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดีย ราจีฟมุ่งความสนใจของตนเองไปกับการเป็นนักบินในช่วงเวลาสิบกว่าปี จนกระทั่ง ซานเจย์ คานธี น้องชาของตนเองประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกจนเสียชีวิตในปี 2523

ราจีฟได้รับคำแนะนำจากนักบวชในศาสนาฮินดูหลังจากงานไว้อาลัยของน้องชายตนว่า ราจีฟไม่ควรจะขับเครื่องบินอีกต่อไป และควรอุทิศตนเองให้กับประเทศชาติ ส่งผลให้สมาชิกรัฐสภาอินเดียกว่า 70 คนรวมชื่อเพื่อนำไปยื่นให้กับอินทิรา เพื่อขอให้ผู้เป้นแม่ชักชวนราจีฟเข้ามาทำงานการเมืองของอินเดีย อินทิรากล่าวว่าการตัดสินใจดังกล่าวขึ้นอยู่กับตัวลูกชายของเธอเอง

AFP - ราจีฟ คานธี อินทิรา คานธี

ลูกชายของนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวของอินเดียระบุว่า ตนจะเข้ามาทำงานการเมืองถ้าหากตนสามารถช่วยเหลืองานแม่ได้ ราจีฟตัดสินใจเข้ามาทำงานการเมืองอินเดียในปี 2524 ด้วยการขึ้นแถลงที่การชุมนุมชาวนาระดับชาติ ณ กรุงเดลี ราจีฟเริ่มมีบทบาทในพรรคและการช่วยงานทางการเมืองของผู้เป็นแม่มากขึ้นเรื่อยๆ

หลังจากการลอบสังหารอินทิราโดยองครักษ์ส่วนตัว จากความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและชาวซิกข์ได้ไม่กี่ชั่วโมง ประธานาธิบดีของอินเดียประกาศให้ราจีฟขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากผู้เป็นแม่ของตนเอง ราจีฟประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคของเขาคว้าเสียงข้างมากในรัฐสภาอินเดียอย่างถล่มทลาย ส่งผลให้ราจีฟมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการคุมรัฐสภา

ราจีฟครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมาได้อีก 5 ปี จนกระทั่งในปี 2532 ราจีฟตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากการแพ้การเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี เขายังคงดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอยู่ต่อไป ตลอดการปกครองอินเดียภายใต้ลูกชายของอินทิรา อินเดียยังคงเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียใต้ ราจีฟมีส่วนร่วมในสงครามระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มกบฏในศรีลังกา เขาตัดสินใจให้อินเดียส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปยังศรีลังกา สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มกบฏกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม ความไม่พอใจจากกลุ่มก่อการร้ายในศรีลังกาส่งผลให้ราจีฟถูกลอบสังหารระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซ่อมด้วยระเบิดพลีพในปี 2534


ที่มา:

https://www.freiheit.org/sudost-und-ostasien/megawati-sukarnoputri-founding-fathers-daughter-presidency-her-own

https://www.britannica.com/biography/Megawati-Sukarnoputri

https://www.gmanetwork.com/news/topstories/nation/171863/the-son-also-rises-who-is-noynoy-aquino/story/

https://awpc.cattcenter.iastate.edu/directory/corazon-aquino/

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/park-geun-hye-once-south-koreas-princess-and-de-facto-first-lady-now-dethroned-in

https://www.dw.com/en/who-is-myanmars-aung-san-suu-kyi/a-56406128

https://www.history.com/topics/womens-history/benazir-bhutto

https://www.biography.com/news/indira-gandhi-biography-facts

https://www.ndtv.com/india-news/rajiv-gandhi-birth-anniversary-all-you-need-to-know-about-india-s-youngest-prime-minister-to-date-2514330