ไม่พบผลการค้นหา
‘สลา คุณวุฒิ’ ครูเพลงชื่อดังแสดงทรรศนะ ต่อพฤติกรรมการฟังเพลงยุคนี้ เพลงไทยลูกทุ่ง เหมือนการเสพข่าว มาไวไปไว วันนี้โดดเด่นมาแรง พรุ่งนี้ถูกลืมแล้ว

ปัจจุบันนี้ ภายในเวลาเพียงช่วงข้ามคืน สามารถมีเพลงใหม่แจ้งเกิดได้ ในขณะเดียวกันวันถัดไปก็ถูกลืมได้ การเสพเพลงยุคใหม่คล้ายกับการดูข่าวสมัยก่อน คือ วันนี้มีข่าวใหม่คนก็ให้ความสนใจกับข่าวใหม่ วันต่อมามีข่าวใหม่ข่าวเก่าก็ถูกลืม นี่คือความเห็น ของครูเพลงชื่อดัง ครูสลา คุณวุฒิ ด้วยปริมาณเพลงที่มีจำนวนมากไม่แตกต่างกับข่าวรายงานสถานการณ์ประจำวัน การที่จะแปลงเพลงมาเป็นทรัพย์สิน เป็นโจทย์ยากกว่าเก่า ยากกับคนทำงานเพลงทุกคน แต่ในขณะเดียวกันก็ง่ายกับทุกคนเช่นกัน

ที่บอกว่า ‘ยาก ’ในที่นี้ ครูสลา ครูเพลงผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จศิลปินขวัญใจชนมากมาย อาทิ ต่าย อรทัย ไมค์ ภิรมย์พร มนต์แคน แก่นคูน มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ฯลฯ และยังเป็นนักประพันธ์เพลงแนวลูกทุ่งอีสาน ที่มีรางวัลพระพิฆเนศทองคำ สาขาผู้ประพันธ์เพลงยอดเยี่ยม การันตีความสามารถ ไขปริศนาว่า 1.ต้องทำอย่างไรจึงจะสร้างเพลงให้น่าฟัง 2.ทำให้โดดเด่น และ 3. มีเสน่ห์มากพอที่จะดึงดูดความสนใจ ให้คนมาฟังเพลงที่สร้างสรรค์ออกมาพร้อมกันหลายๆ คน

“เมื่อก่อนเราทำเพลงน่าฟัง สนุก เปิดนานๆ คนก็ซื้อไปฟังในรถ ในบ้านตนเอง แต่ทุกวันนี้เพลงเยอะมาก หว่านออกมาร้อยเพลงต่อวัน เพลงที่มีเนื้อหาน่าฟัง กลายเป็นเพลงธรรมดา คุณภาพดีเหมือนเดิมนะ รสชาติดีหมด แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก ทำให้คนฟังหรือติดตามดูมิวสิควิดีโอลดลง ตรงนี้ที่บอกว่ายาก ถ้าเปรียบกับเมื่อก่อน การทำเพลงตั้งธงไว้ที่หนึ่งเนื้อหา ดนตรี ต้องผ่านมาตรฐาน สองทำให้น่าฟัง ทำให้สนุก ส่วนความโดดเด่นจี๊ดจ๊าดก็แยกแยะกันไปตามบุคลิกของศิลปิน แต่ทุกวันนี้ต้องก้าวเข้าสู่คำว่าโดดเด่นด้วย

ครูสลา ขยายความคำว่า ‘ง่าย’ ต่อว่า พร้อมที่จะเป็นเราเสมอ วันนี้ผลงานของคุณโดดเด่น พรุ่งนี้อาจจะเป็นผลงานของผมก็ได้ที่มาแรง

“อย่างที่บอกว่าเพลงทุกวันนี้เหมือนข่าว เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ผลงานที่เป็นแชมป์อาจถอยไปอยู่ข้างหลัง ผลงานที่อยู่ข้างหลังสุดอาจจะขยับมาอยู่ข้างหน้าสุด เพียงช่วงข้ามคืน เป็นโอกาสทางการแข่งขัน”

ครูสลา ยอมรับว่า ในยุคที่สื่อโซเชียลมีบทบาทสำคัญกับการทำงาน สามารถทำเพลงได้ง่ายขึ้นก็จริง แต่ประสบความสำเร็จยากกว่าเก่า ที่ยากยิ่งไปกว่านั้น คือ การนำความสำเร็จไปแลกเปลี่ยนเป็นค่าตอบแทน ยากจนไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ต้องไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว เปิดใจเรียนรู้ใหม่ทุกวัน

“ในอดีตกว่าจะลงมือทำเพลงแต่ละเพลง ต้องผ่านการคัดเลือกหลายขั้นตอน บางความคิดที่กลั่นกรองออกมา อาจไม่ใช่ในความรู้สึกของค่ายเพลง จนไม่ได้รับโอกาสสร้างเป็นเพลงเลยก็ว่าได้ แต่เมื่อได้รับโอกาสแล้วมักจะสบความสำเร็จ ทุกวันนี้ใครก็เป็นนักร้องได้ ร้องเพลงไม่เป็นก็เป็นนักร้องได้ เพราะการทำเพลงง่ายกว่าเดิม แต่ทำออกมาแล้วประสบความสำเร็จหรืเปล่านั่นต้องลุ้น คู่แข่งมีมากกว่าเก่า อย่างที่บอกข้อดี คือ ทำงานง่ายขึ้นไม่กดดัน แต่ขอเสียคือมันหาคำตอบความสำเร็จยากขึ้น โดยเฉพาะการเอาความสำเร็จไปแลกเปลี่ยนเป็นค่าตอบแทนยากมากๆ ยากจนไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ” 

ครูสลา คุณวุฒิ.jpg

ถามว่า ในอนาคต รายได้จากสื่อโซเชียล จะมีโอกาสขยับขึ้นมาเป็นรายได้หลักของค่ายเพลง ศิลปิน หรือไม่ ครูสลา ตอบว่า เรื่องนี้ฟันธงยาก เพราะไม่รู้ว่า สื่อโซเชียล ที่มีการค้นพบ ถูกเปิดเผยออกมาหมดหรือยัง อาจจะมีหลายๆ อย่าง ที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ยังถูกซ่อนเอาไว้ เพื่อทยอยเปิดออกมาให้เราได้สัมผัส การที่จะไปสรุปการเปลี่ยนแปลงในยุคเทคโนโลยีไม่ง่าย เพื่อความปลอดภัยยังต้องมุ่งเน้นไปที่งานโชว์คอนเสิร์ต เพื่อให้เลี้ยงตนเองได้เอาไว้ก่อน ควบกับการเรียนรู้เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีต่อไป ศิลปินที่มีเพลงดัง ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จ ศิลปินที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วอาจจะมีความได้เปรียบก็จริง แต่ก็ต้องคิดค้นให้ได้ด้วยว่า ต้องทำอย่างไรให้เป็นเพลงที่ใช่ บางเพลงที่ออกมาได้รับความนิยมน้อยกว่าคลื่นลูกใหม่ จุดนี้นับว่าเป็นความยากของศิลปินที่มีตัวตนแข็งแรงอยู่แล้วเช่นกัน

แต่ในขณะเดียวกัน เด็กรุ่นใหม่ มีความง่ายอยู่ตรงที่ทำเพลงใหม่ออกมาได้รวดเร็ว ได้ยอดวิวสูง เพราะผู้ฟังชอบความแปลกใหม่ แต่ว่าการจะสร้างความน่าเชื่อถือบนเวทีคอนเสิร์ต เป็นเรื่องที่ยากกว่าศิลปินแบรนด์หลัก เรียกว่ามีความยากง่ายแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม มีหลายคนน่ายกย่อง ค้นพบการทำงานเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จทั้งสองทาง ยกตัวอย่าง ‘เนสกาแฟ ศรีนคร’ นักร้องอินดี้อีสาน จากเด็กเลี้ยงไก่สู่นักร้องร้อยล้านวิว  ‘ก้อง ห้วยไร่’ และ ‘เบิ้ล ปทุมราช’ คือ มีเพลงได้รับความนิยม โชว์หน้าเวทีก็เอาอยู่ นอกจากนี้ยังมีวงดนตรีอีกหลายวงที่แสดงคอนเสิร์ตได้ดี มีงานต่อเนื่อง เพลงที่ปล่อยออกมาอาจจะไม่ได้รับความนิยมสูงมาก แต่หากใครได้ชมการแสดงหน้าเวที จะรู้สึกติดใจอยากชมอีก ยกตัวอย่าง ‘วงมหาหิงค์’ และ ‘วงไททศมิตร’ เป็นต้น

“วงที่กล่าวมาอาจไม่มีเพลงเปรี้ยงปร้างก็จริง แต่ถ้าได้ชมคอนเสิร์ต โอ้โห ต้องยอมรับว่าวันนี้งานโชว์คืองานที่ทำเงิน คืองานที่ได้ตังค์ ใครมีงานโชว์มากก็มีต้นทุนสะสมมาก พอมีเงินหมุนเข้ามาอย่างสมบูรณ์ ก็สามารถนำไปแปลงเป็นเพลงดังได้ง่ายขึ้น แทนที่จะทำเพลงเดียว ก็ทำออกมาทีเดียวเลยสิบเพลง เพราะต้นทุนเรามี เพราะฉะนั้นตอนนี้มองว่า ใครโชว์เด่น ใครมีงานโชว์จำนวนมากยังได้เปรียบในยุคนี้”เ