ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ออกคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการอาหาร ผู้ขนส่งอาหาร และผู้บริโภค ป้องกันการรับเชื้อ-การระบาดของโควิด-19

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ลงนามคำแนะนำในการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับผู้ประกอบการอาหาร ผู้ขนส่งอาหาร และผู้บริโภค ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 19 เม.ย. 2563 เพื่อขอความร่วมมือจากทุกจังหวัด สื่อสารสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว แม้ว่าในช่วงนี้จำนวนผู้ป่วยจะลดลง แต่ทุกพื้นที่ยังคงต้องดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นต่อไป ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อ ส่งผลให้มีการสั่งอาหารมาบริโภคหรือซื้ออาหารมารับประทานที่บ้าน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบอาหาร ผู้จำหน่ายอาหาร หรือผู้ส่งอาหาร เป็นผู้ที่มีการสัมผัสผู้คนจำนวนมาก และมีโอกาสเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อต่อไปยังผู้บริโภคได้

กรมควบคุมโรค จึงออกคำแนะนำในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับผู้ประกอบการอาหาร ผู้ขนส่งอาหาร และผู้บริโภค โดยขอความร่วมมือจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

1.ผู้ประกอบการ ผู้ขาย ผู้บริจาคอาหาร และพนักงานที่เกี่ยวข้อง ควรจัดป้ายประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ คำแนะนำ ในการป้องกันโควิด-19 และจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง และแอลกอฮอล์เจล ให้เพียงพอกับพนักงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสัมผัสอาหาร

สำหรับผู้ประกอบอาหาร ควรรักษาสุขอนามัยโดยการล้างมือให้สะอาดก่อนประกอบอาหาร ล้างทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ประกอบอาหาร ล้างผักผลไม้ก่อนประกอบอาหาร และเมื่อทำอาหารเสร็จแล้ว ควรใส่ในภาชนะบรรจุอาหารที่ปิดมิดชิดพร้อมที่จะแจกจ่ายให้กับประชาชนหรือลูกค้า 

2.ผู้ประกอบการที่ให้บริการจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ควรจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้เพียงพอกับผู้ขนส่งอาหาร และให้คำแนะนำด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดี เช่น ไม่นำมือสัมผัสตา จมูก ปาก และล้างมือทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหารหรือหลังจากเข้าห้องน้ำ

สำหรับผู้ขนส่งอาหาร หากมีอาหารป่วยหรือไม่สบาย เช่น มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เหนื่อยหอบ ไม่ควรมาปฏิบัติงาน และควรรีบไปพบแพทย์ สวมหน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติงาน ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งก่อนหยิบถุงอาหาร ทำความสะอาดพื้นผิวกระเป๋าหรือกล่องบรรทุกอาหารที่ติดตั้งอยู่กับรถอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง และหลังจากเสร็จการปฏิบัติงาน เมื่อกลับเข้าบ้านควรทำความสะอาดร่างกายทันที

3.ผู้บริโภค ควรปฏิบัติดังนี้

3.1 กรณีออกไปซื้ออาหารเองหรือรับอาหารบริจาค ให้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านทุกครั้งและใส่ตลอดเวลา พกแอลกอฮอล์เจลติดตัว ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ขณะยืนต่อคิวควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร ไม่ควรรับสิ่งของผ่านมือผู้อื่นโดยตรง หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนแออัดหรือมีการรวมตัวกันจำนวนมาก เมื่อกลับถึงบ้านควรรีบทำความสะอาดร่างกายและล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง

3.2 กรณีสั่งซื้ออาหารแบบเดลิเวอรี่ ให้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งก่อนออกไปรับอาหาร หลีกเลี่ยงการรับจากมือผู้ขนส่งโดยตรง อาจแจ้งทางโทรศัพท์ล่วงหน้าให้แขวนหรือวางในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ให้ที่หน้าบ้าน เมื่อได้รับอาหารในภาชนะที่บรรจุเรียบร้อยแล้ว ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานทุกครั้ง ทั้งนี้ หากผู้ซื้อผู้ขายสามารถจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ได้ แนะนำให้ใช้วิธีการดังกล่าว หรือหากจ่ายเงินสดควรเตรียมให้พอดี ที่สำคัญผู้บริโภคเองควรเลือกซื้ออาหารหรือรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยแยกคนละชุดและไม่ใช้จาน ชาม แก้วน้ำร่วมกัน หากรับประทานอาหารไม่หมด ควรแช่ตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับพนักงานขนส่งอาหาร พนักงานประกอบอาหาร หรือประชาชนที่เดินทางไปรับของบริจาค เมื่อกลับถึงบ้านแล้วต้องทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้ามาติดต่อสู่คนในครอบครัว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะถ้ากลุ่มดังกล่าวได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :