ชายวัย 41 ปี ชาวบราซิล เสียชีวิตลงหลังจากการติดเชื้อฝีดาษลิง นับเป็นการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรกนอกแอฟริกา เช่นเดียวกันกับสเปนที่คาดว่าประเทศของตนพบกับผู้เสียชีวิต ที่เกี่ยวเนื่องจากอาการฝีดาษลิงแล้ว
การเสียชีวิตจากฝีดาษลิงนอกแอฟริกา เกิดขึ้นหลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกมาประกาศเมื่อสัปดาห์ก่อน ให้การระบาดของฝีดาษลิงกลายเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก อย่างไรก็ดี โรคติดเชื้อดังกล่าวมักส่งอาการข้างเคียงต่อผู้ติดเชื้อที่ไม่รุนแรง และความเสี่ยงในการแพร่ระบาดอยู่ในอัตราที่ต่ำ
จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขบราซิลระบุว่า ผู้เสียชีวิตจากฝีดาษลิงรายแรกนอกแอฟริกานั้น ป่วยด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รวมถึง "โรคร่วมที่ทำให้สภาพของเขาแย่ลง" ทั้งนี้ บราซิลพบรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงแล้ว 1,066 ราย และผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้ออีก 513 ราย โดยรายงานของกระทรวงสาธารณสุขบราซิลเผยว่า ผู้ติดเชื้อประมาณ 98% เป็นชายที่มีประวัติร่วมเพศกับชาย
หลังจากการประกาศจากทางบราซิลได้ไม่นาน กระทรวงสาธารณสุขสเปนได้ออกมารายงานกรณีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับฝีดาษลิงรายแรกในยุโรป โดยรายงานของทางการสเปนระบุว่า ประเทศของตนมีผู้ป่วยฝีดาษลิง 3,750 ราย ทั้งนี้ 120 ราย หรือ 3.2% ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย อย่างไรก็ดี กระทรวงสาธารณสุขสเปนไม่ได้ให้ข้อมูลใดๆ เพิ่มเติม
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเปิดเผยว่าปัจจุบันนี้ มีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงแล้วทั้งสิ้น 21,148 รายทั่วโลก โดยฝีดาษลิงเป็นโรคในตระกูลเดียวกันกับฝีดาษ อย่างไรก็ดี อาการของโรคมักไม่มีความรุนแรง และโอกาสในการติดเชื้ออยู่ในอัตราที่ต่ำ และโรคมักแพร่ระบาดอยู่ในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน
จากรายงานของ BBC ระบุว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะนำให้ผู้มีความเสี่ยงสูงที่อาจติดเชื้อฝีดาษลิง รวมทั้งชายที่เป็นเกย์และไบเซ็กชวล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์บางคนควรได้รับวัคซีน ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกระบุว่า ฝีดาษลิงระบาดในทั่วโลกที่ระดับปานกลาง แต่มีตัวเลขที่สูงในยุโรป
เมื่อสัปดาห์ก่อน องค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขระดับโรค เพื่อให้มีการเร่งการพัฒนาวัคซีนฝีดาษลิง และการดำเนินการทางด้านมาตรการเพื่อป้องกันและจำกัดการระบาดของโรค
ที่มา: