ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมผู้นำชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ร่วมกันออกแถลงการณ์ ระบุว่าความทะเยอทะยานทางการทหารของจีน ถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ต่อระเบียบโลก

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 มิ.ย.) ผู้นำชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ  NATO ร่วมประชุมที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พร้อมส่งคำเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางทหารจากจีน ระบุว่าพฤติกรรมของจีนถือเป็น ‘ความท้าทายเชิงระบบ’ เห็นได้จากการที่จีนทำการขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว มีการพัฒนากองทัพให้ทันสมัยโดยไม่โปร่งใส และให้ความร่วมมือทางทหารกับรัสเซีย

เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO เตือนว่า จีนกำลัง ‘เข้าใกล้’ NATO มากยิ่งขึ้น ในแง่ของการทหารและเทคโนโลยี แต่เขาย้ำว่ากลุ่มชาติพันธมิตร NATO นั้น ไม่ได้ต้องการทำสงครามเย็นครั้งใหม่กับจีน 

ทั้งนี้ NATO คือกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองและการทหารที่ทรงอิทธิพลของโลก ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิกจากยุโรปและอเมริกาเหนือรวม 30 ประเทศ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2492 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้เจตนารมณ์แรกเริ่มเพื่อรับมือภัยคุกคามจากการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์โดยสหภาพโซเวียต

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา NATO กำลังเผชิญปัญหาหนักจากการที่ผู้นำหลายชาติโต้เถียงกันถึงจุดประสงค์ในการดำรงอยู่และการจัดหางบประมาณสนับสนุนการทำงานขององค์การ โดยความตึงเครียดได้เพิ่มสูงขึ้นช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนก่อน วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสัดส่วนการจ่ายเงินงบประมาณสนับสนุน NATO และตั้งคำถามเกี่ยวกับพันธกรณีที่สหรัฐฯ ต้องปกป้องชาติพันธมิตรในยุโรป

AFP - กองทัพจีน
  • กองทัพปลดปล่อยประชาชน ของสาธารณรัฐประชาชนจีน 

จีนแถลงตอบโต้เดือด! เรียกร้อง NATO มองจีนอย่างมีเหตุผล "หยุดใส่ร้าย-สร้างการเผชิญหน้า"

คณะผู้แทนจีนประจำสหภาพยุโรป ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ความยาว 2 หน้ากระดาษ ระบุว่า คำกล่าวอ้างของ NATO ที่ว่าจีนเป็น 'ความท้าทายเชิงระบบ’ เป็นการมุ่งโจมตีการพัฒนาอย่างสันติของจีน แสดงให้เห็นถึงการสืบทอดแนวคิดว่าด้วยความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น และเป็นการแบ่งกลุ่มทางการเมือง พร้อมยืนยันว่านโยบายทางการทหารของตนเป็นไปในเชิงรับ ดังนั้น การพัฒนากองทัพให้ทันสมัยของจีนจึงมีความชอบธรรม เป็นเหตุเป็นผล เปิดเผย และโปร่งใส

"จีนจะเดินหน้าการพัฒนาอย่างสันติต่อไป แต่จะไม่ละทิ้งสิทธิ์ที่จะยืนหยัดในการรักษาสันติภาพและปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์จากการพัฒนาของตนเอง จีนไม่ได้เป็นความท้าทายเชิงระบบต่อผู้ใด แต่จะไม่นิ่งเฉยโดยไม่ทำสิ่งใด หากความท้าทายเชิงระบบเข้าใกล้เรามากขึ้น"

โฆษกของผู้แทนจีนระบุในแถลงการณ์ว่า "จีนยังคงยึดมั่นในนโยบายการป้องกันประเทศซึ่งเป็นการป้องกันตามปกติวิสัย การเดินหน้าปรับปรุงงานด้านการป้องกันประเทศและกลาโหมของจีนให้ทันสมัยนั้นก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม มีเหตุผล เปิดกว้าง และโปร่งใส"

โฆษกจีนยังยกข้อมูลโต้ว่า บประมาณด้านกลาโหมของจีนในปี 2564 นั้น อยู่ที่ราว 2.09 แสนล้านดอลลาร์ หรือเพียง 1.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และยังน้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของงบประมาณด้านกลาโหมที่กลุ่มนาโต้กำหนดไว้อยู่ที่ขั้นต่ำ 2% ของจีดีพี

การใช้จ่ายด้านกลาโหมของชาติสมาชิกทั้ง 30 ประเทศนั้น คาดว่าอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณด้านกลาโหมทั่วโลกรวมกัน และมากกว่าจีน 5.6 เท่า อ้างรายงานจากหน่วยงานของสวีเดนและสหรัฐ

"ประชาชนทั่วโลกย่อมเห็นได้ชัดว่าใครที่มีฐานทัพอยู่ทั่วโลก และใครที่ชอบแสดงแสนยานุภาพทางทหารด้วยการส่งเรือบรรทุกอากาศยานแล่นไปทั่วโลก จำนวนอาวุธนิวเคลียร์ที่จีนมีนั้นเทียบไม่ได้กับที่บางชาติสมาชิกนาโต้มีอยู่ อย่างเช่นสหรัฐ"

ในตอนท้ายของแถลงการณ์ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ NATO มองการพัฒนาของจีนอย่างมีเหตุผล หยุดการปั่นกระแส 'ภัยคุกคามจากจีน' แบบเดิมๆ รวมทั้งหยุดการนำผลประโยชน์และสิทธิอันชอบธรรมของจีน มาเป็นข้ออ้างในการทำให้เกิดการแบ่งฝักฝ่ายของกลุ่มทางการเมือง การเผชิญหน้า หรือการแข่งขันทางการเมือง

ทั้งนี้ NATO ควรเอาเวลาไปทุ่มเทให้กับการสร้างบรรยากาศการเจรจาและความร่วมมือระหว่างชาติสมาชิก รวมถึงความพยายามอื่นๆที่เอื้อต่อการส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติแทนเสีย

นักวิชาการ ชี้ ภาษาในแถลงการณ์ NATO มองอิทธิพลจีน 'ไปไกล' กว่าเดิม

'เอียน บอนด์' ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายต่างประเทศ จากศูนย์วิจัย Centre for European Reform ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหภาพยุโรป ระบุว่า สำนวนภาษาอันแข็งกร้าวในแถลงการณ์ฉบับล่าสุด เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า NATO มองภัยคุกคามจากจีน 'ไปไกล' กว่าเดิมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สะท้อนถึงความตระหนักรู้ที่สูงขึ้นว่า จีนกำลังพัฒนาตนเองไปในลักษณะที่เหล่าชาติสมาชิกไม่ได้คาดการณ์ไว้ นับตั้งแต่การที่เคยเรียกร้องให้จีนดำรงตนในฐานะผู้เล่นที่มีความรับผิดชอบในระบบการเมืองโลก และการเอ่ยถึงอิทธิพลที่กำลังแผ่ขยายของจีนเป็นครั้งแรกในแถลงการณ์เมื่อปี 2562

ที่มา: BBC , Chinese Mission to the EU Twitter , EuroNews , NATO


ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog