ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าหน้าที่อุทยานฯ สนธิกำลังเข้ายึดไม้ชุมชนบ้านกลาง จ.ลำปาง อ้าง พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 ชาวบ้านชี้ เป็นการใช้ประโยชน์จากผืนป่าชุมชนที่ดูแลมากว่า 300 ปี

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติ ได้สนธิกำลังกันเข้ายึดไม้ในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านกลาง หมู่ที่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563 โดยอ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ด้านชาวบ้านชี้ เป็นการใช้ประโยชน์ตามปรกติธุระในผืนป่าชุมชนที่ดูแลมากว่า 300 ปี เพื่อสร้างศาลาอเนกประสงค์ในชุมชน

เหตุการณ์สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ชาวกะเหรี่ยงบ้านกลางได้เข้าไปในพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อนำไม้จำปาและไม้จำปีมาก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์โบสถ์คริสต์ของชุมชน ได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทไปพบเข้าและมีการเจรจากันจนได้ข้อยุติ แต่วันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังกันเข้าไปมากกว่าเดิม ยื่นคำขาดขอยึดคืนไม้ของกลาง การเจรจายุติลงในเวลาประมาณ 19.00 น.

สถานการณ์ล่าสุด ณ เวลา 12.35 น. ของวันที่ 11 ตุลาคม เบื้องต้นจากการลงไปในที่เกิดเหตุ ตำรวจให้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ บันทึกสำนวนคดีแล้วส่งให้ร้อยเวร สภอ.แม่เมาะ ในการทำสำนวน อ้างว่าต้องนำไม้ของกลางมาให้ครบ คำนวณปริมาณก่อนจึงจะสามารถทำสำนวนได้ ชาวบ้านได้แต่รอให้เจ้าหน้าที่ค่อยๆ ลากไม้ออกมาจากป่า ก่อนจะร่วมทำสำนวนด้วยกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าจะไปทำสำนวนที่ที่ทำการอุทยานฯ แต่ชาวบ้านไม่ยินยอม ขอให้ไปทำสำนวน ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการทำสำนวนด้วย

ป่า.jpg

มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นดังกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นเพียงพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทเท่านั้น สถานะจึงเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แต่การดำเนินการเกิดจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นคนละกรมกัน รวมถึงการเข้ารื้อค้นทรัพย์สิน หรือเข้าไปในชายคาบ้านของชาวบ้านสามารถกระทำได้หรือไม่ในยามที่หมดเวลาราชการแล้วโดยไม่มีหมายค้น ถือเป็นการคุกคาม ข่มขู่ ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

ด้านสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านกลาง กล่าวว่า ขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจชุมชนบ้านกลางในเหตุการณ์เจ้าหน้าที่อุทยานยึดไม้สร้างบ้านครั้งนี้ เราได้เห็นท่าทีของเจ้าหน้าที่อุทยานถ้ำผาไท ตำรวจ ตชด. ที่ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงชาวบ้าน โดยไม่เคยสำนึกเลยว่าชุมชนดูแลป่าปกป้องป่าดีขนาดไหน พอชาวบ้านจะใช้ทรัพยากรกลับไม่มีสิทธิ

"เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ตอกย้ำชุมชนให้ผนึกกำลังยิ่งกว่าเก่า และเราจะไม่ถือว่าเราคือผู้แพ้ เราคือผู้ชนะในความดีที่เราทำมาตั้งแต่บรรพชน ครั้งนี้ถึงแม้เรายอมให้เจ้าหน้าที่เอาไม้ของเราไปเพื่อแลกกับชาวบ้านที่จะถูกดำเนินคดีที่ทางเจ้าหน้าได้ลาดตระเวนและได้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานในขณะที่เลื่อยไม้อยู่ พวกเราพยามเจรจาต่อรองแล้วไม่เป็นผล ตั้งแต่เวลาบ่ายสองโมงถึง 1 ทุ่ม เขาอ้างแต่กฎหมายอย่างเดียว ไม่ยอมฟังเหตุผลจากชาวบ้านแม้แต่น้อย ทั้งอ้างกฏหมายต่างๆนานา ก็ถือพวกเราทำหน้าที่ดีที่สุดแล้วครับ เพราะกฎหมายอยู่ในมือของเขา แต่พวกเราชาวบ้านกลางยังมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป จะรักษาป่าต่อไป ขอบคุณทุกท่านที่ส่งกำลังใจมาให้นะครับ”

ส่วนประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้ฝากคำถามถึงวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า

“เมื่อวานหัวหน้าอุทยานฯตำรวจ ชาวบ้าน เจรจากัน 7 ชั่วโมงเต็ม ผลการเจรจามีทางออกเป็นที่รับได้ของทุกฝ่าย เช้านี้เจ้าหน้าที่อีกชุดเข้าพิ้นที่ ...เพื่อเปิดประเด็นใหม่ ? สร้างเกมส์ใหม่ ? เพื่อจะไล่ล่าชาวบ้านให้จนมุม..เอาให้ตายกันไปข้างหนึ่งไช่ไหม ? นี่หรือนโยบายที่ว่า 'รักษ์ป่า รักประชาชน' ”

ป่า.jpg

ทั้งนี้ ชุมชนบ้านกลาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เป็นชุมชนชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนยาวนานกว่า 300 ปี พื้นที่จิตวิญญาณทั้งหมดประมาณ 16,000 ไร่ มีพื้นที่ส่วนใหญ่ทับซ้อนกับการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทมาตั้งแต่ปี 2534 ปัจจุบันเป็นสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และ พีมูฟ ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายกับรัฐบาล เปิดข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมาย การแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่าที่นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับหลักการให้มีการจัดเวทีวิชาการรับฟังเห็นของประชาชน ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และชาวกะเหรี่ยง ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 202 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

1. ยุตินโยบายทวงคืนผืนป่าที่สร้างผลกระทบต่อคนจนและเกษตรกรรายย่อย พร้อมทั้งให้หาแนวทางและมาตรการในการฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐที่ผ่านมา 

​​2. ผลักดันให้มีมาตรการคุ้มครองพื้นที่โฉนดชุมชน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยกระดับโครงการจัดที่ดินชุมชน (คทช.) ให้เป็นการรองรับสิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินร่วมกันอย่างแท้จริง และผลักดันให้มี พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน

3. ให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากแนวทางและมาตรการตามมติ ครม. ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

​4. ทบทวน ปรับปรุงเนื้อหา พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ฉบับ พ.ศ. 2562 ให้สอคคล้องกับเนื้อหาและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560

5. ผลักดันให้มีการคุ้มครอง พื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และพื้นที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และยกระดับมติ ครม. ดังกล่าวให้เป็นพระราชบัญญัติเขตส่งเสริมและคุ้มครองทางวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ตามยุทธศาสตร์ชาติด้านสังคมภายในปี พ.ศ.2564

6. กรณีชุมชนที่อยู่ในระหว่างกระบวนการแก้ปัญหากับหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ชุมชนสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา และที่อยู่อาศัยได้

7. ให้มีนโยบายพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กับ ขปส.

จำแนกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มประชาชนผู้ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เช่น บ้านกลาง จังหวัดลำปาง, บ้านหินลาดใน จังหวัดเชียงราย, บ้านนาดอย จังหวัดแม่ฮ่องสอน, บ้านสบลาน จังหวัดเชียงใหม่, บ้านป่าแป๋ จังหวัดลำพูน, ตำบลไล่โว่ จังหวัดกาญจนบุรี, ชาวเลพีพี จังหวัดกระบี่, ชาวเลเกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา, สระต้นโพธิ์ จังหวัดภูเก็ต 2.กลุ่มป่าสงวนแห่งชาติ เช่น ชุมชนเพิ่มทรัพย์ สุราษฎร์ธานี และชุมชนสันติพัฒนา สุราษฎร์ธานี 3.กลุ่มป่าอนุรักษ์เตรียมการประกาศหรือผนวกเพิ่ม เช่น บ้านกลาง จังหวัดลำปาง, แม่ป่าเส้า, แม่คองซ้าย และบ้านสบลาน จังหวัดเชียงใหม่ 4.กลุ่มป่าอนุรักษ์ เช่น ตำบลน้ำพาง จังหวัดน่าน, ชุมชนตามุย จังหวัดอุบลราชธานี, จังหวัดชัยภูมิ ชัยภูมิ (บ้านซับหวาย, บ้านซับสะเลเต, หนองผักแว่น, ซอกตะเคียน, หินรู), บ้านปลิว จังหวัดตรัง และบ้านหลังมุก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กรณี ออป. ชุมชนบ่อแก้ว (สวนป่าคอนสาร) อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

8.ให้มีกลไกการประสานงานเพื่อติดตามความคืบหน้าและแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)