ไม่พบผลการค้นหา
บขส.-รถร่วมฯ เตรียมปรับขึ้นค่าโดยสารไม่เกินร้อยละ 10 เริ่ม 22 เม.ย.นี้ ด้านก.ส.ร.ก. ออกแถลงการณ์ค้านขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ ชี้เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชน

บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แจ้งปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางหมวด 2 และหมวด 3 ของ บขส. และรถร่วมฯ ตามมติคณะกรรมการกรมการขนส่งทางบกกลาง เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2562 เวลา 00.01 น. เป็นต้นไป 

สำหรับอัตราค่าโดยสารที่ ปรับขึ้น ในส่วนรถโดยสาร บขส. และรถร่วม บขส. จะปรับขึ้นไม่เกินร้อยละ 10 โดยแบ่งระยะทางเป็น 4 ช่วง เช่น ระยะทางไม่เกิน 40 กิโลเมตรแรก เดิม 0.49 บาท/กิโลเมตร ปรับเป็น 0.53 บาทต่อกิโลเมตร , ระยะทาง 40-100 กิโลเมตร เดิม 0.44 บาท/กิโลเมตร ปรับเป็น 0.48 บาทต่อกิโลเมตร , ระยะทาง 100-200 กิโลเมตร เดิม 0.40 บาท/กิโลเมตร ปรับเป็น 0.44 บาทต่อกิโลเมตร และระยะทางเกิน 200 กิโลเมตร เดิม 0.36 บาท/กิโลเมตร ปรับเป็น 0.39 บาทต่อกิโลเมตร อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ -ภูเก็ต รถวีไอพี เดิมค่าโดยสาร 913 บาท ปรับขึ้นเป็น 991 บาท ,  เส้นทางกรุงเทพฯ –นครราชสีมา เดิมค่าโดยสาร 191 บาท ปรับขึ้นเป็น 209 บาท เส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น เดิม 313 บาท ปรับขึ้นเป็น 340 บาทเป็นต้น


ก.ส.ร.ก. ออกแถลงการณ์ค้านขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ 

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (ก.ส.ร.ก.) ออกแถลงการณ์ ระบุดังนี้ ตามที่คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางได้มีมติขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะทุกประเภท ได้แก่ รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), รถร่วมบริการ ขสมก., รถโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถโดยสารร่วมบริการ บขส. ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2562 เป็นต้นไป นั้น

กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (ก.ส.ร.ก.) ซึ่งเป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานที่เกิดจากการรวมตัวกันของสหภาพแรงงานและองค์กรผู้ใช้แรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี และอ่างทอง มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าวดังต่อไปนี้

1. ก.ส.ร.ก. เห็นว่ามติดังกล่าวเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานและคนยากคนจน เป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การปรับขึ้นค่าโดยสารรถธรรมดาของ ขสมก. (รถร้อนครีมแดง) เป็น 8 บาท หากประชาชนโดยสารวันละ 2 เที่ยว จะต้องใช้เงินวันละ 16 บาท หรือคิดเป็น 480 บาท ต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

นอกจากนั้นแล้ว ในการเดินทางไปทำงานหรือทำธุระของประชาชนแต่ละคนอาจต้องโดยสารรถประจำมากกว่า 1 ต่อ ซึ่งทำให้ต้องรับภาระสูงขึ้นไปอีก ที่สำคัญ ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รับภาระแค่ค่าครองชีพของตนเองเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ของบิดามารดาหรือบุตรหลานด้วย

ดังนั้นในการพิจาณาเกี่ยวกับผลกระทบของประชาชนจากการขึ้นค่าบริการรถโดยสารสาธารณะจะพิจารณาเพียงแค่จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเที่ยวไม่ได้

2. ก.ส.ร.ก. เห็นว่านอกจากการไม่เพิ่มภาระให้ประชาชนแล้ว สิ่งสำคัญที่รัฐจำเป็นต้องทำก็คือการลดภาระของประชาชน ดังนั้น ก.ส.ร.ก. จึงขอเรียกร้องให้รัฐนำนโยบายรถเมล์และรถไฟฟรี กลับมาดำเนินการอีกครั้ง

3. องค์กรของรัฐ ซึ่งรวมถึงรัฐวิสาหกิจ จะต้องคำนึงถึงการบริการประชาชนเป็นอันดับแรก ไม่ใช่การแสวงหากำไร หรือคิดในเชิงกำไร-ขาดทุน เหมือนองค์กรธุรกิจเอกชน

4. รัฐจะต้องสนับสนุนให้มีรถโดยสารสาธารณะที่มีคุณภาพดี และราคาถูก เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาจราจรติดขัด รวมถึงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในปัจจุบัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :