ไม่พบผลการค้นหา
อีอีซี-บีบีเอส เดินหน้าแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาท คาดระยะแรกแล้วเสร็จปี 2567 เพิ่มขีดความสามารถรับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคน ด้านเอกชนยันความพร้อมลงทุน พร้อมเตรียมดึงสนามบินนาริตะร่วมบริหารอู่ตะเภา

วันนี้ (19 มิ.ย.2563) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ได้มีการลงนามร่วมกันลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ อีอีซี ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น "สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3" ของประเทศ โดยเชื่อมต่อสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง 

โครงการร่วมทุนรัฐ-เอกชน มูลค่ากว่า 2.9 แสนล้าน สัญญา 50 ปี

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาฯ อีอีซี เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท แต่เป็นโครงการที่รัฐได้ผลประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก และเกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบินและธุรกิจเชื่อมโยง เพิ่มเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา 50 ปี

Exhibition Board U-Tapao_2.jpg

สำหรับพื้นที่ของโครงการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินตะวันออก อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อยู่ใกล้พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาที

เป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถรับผู้โดยสารเป็น 200 ล้านคนต่อปี

โครงการนี้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งทางอากาศทั้งการขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า มีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร ซึ่งสามารถให้อากาศยานขึ้นลงทั้ง 2 ทางวิ่งอย่างอิสระต่อกัน และสามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด โดยมีหลุมจอดอากาศยานรวมทั้งสิ้น 124 หลุมจอด ในส่วนของอาคารผู้โดยสาร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทุกระยะแล้ว จะมีขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี และจะทำให้ทั้ง 3 สนามบินคือสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา สามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

Exhibition Board U-Tapao_1.jpg

นอกจากนี้ โครงการฯ จะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น "ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation" รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ "มหานครการบินภาคตะวันออก" ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 กม. โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

ระยะแรกแล้วเสร็จปี 67 รับผู้โดยสาร 15.9 ล้านคน

ในการดำเนินโครงการฯ กลุ่มบีบีเอส ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย 

ระยะที่ 1 สร้างอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์  อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี 

ระยะที่ 2 สร้างอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี 

ระยะที่ 3 ต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี 

ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี 

อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งเป็นทางวิ่งที่มีความยาว 3,500 เมตรนั้น กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ยังอยู่ระหว่างการออกแบบและจัดทำรายงาน EHIA โดยได้จัดการรับฟังความคิดเห็นฯ จากประชาชนโดยรอบโครงการฯ แล้วจำนวน 2 ครั้ง และคาดว่าจะจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 3 ในช่วงต้นเดือน ส.ค. 2563 ก่อนนำส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปลายเดือน ส.ค. 2563 เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานในปี 2567

เอกชน ยันความพร้อมลงทุน-ดึงสนามบินนานาชาตินาริตะร่วมบริหาร

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ทางกลุ่มบีบีเอส ได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งคือ สนามบินนานาชาตินาริตะ ซึ่งเป็นสนามบินชั้นนำของโลก เข้ามาร่วมบริหารสนามบินอู่ตะเภาด้วย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากร การสร้าง และถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการบริหารสนามบินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายและกรอบการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของรัฐบาล

DSC_8046.jpg

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากประสบการณ์ในการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย และได้เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 20 ปี มั่นใจว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถยกระดับสู่ศูนย์กลางมหานครการบิน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation ของ อีอีซี นำไปสู่การเป็นประตูเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และด้านการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพจะยกระดับการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :