ไม่พบผลการค้นหา
อีกมุมหนึ่งของการกลับบ้านต่างจังหวัด ที่มีกระท่อมคนในชุมชนดูแลกันเอง

กระแสข่าวในช่วงวิกฤตการระบาดของโรค COVID-19 นั้น ชาวต่างจังหวัดดูจะเป็นจำเลยในสื่อโซเชียลต่างๆ แทบทุกกรณี ทั้งเรื่องผู้ลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ หรือ 'ผีน้อยกลับบ้าน' เรื่องหนีกลับต่างจังหวัดเมื่อปิดห้างและสถานบันเทิง และเป็นที่กังวลว่าจะทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้าง จนเกิดกระแสไล่ล่าด่าทออย่างรุนแรง

แต่ในการปฏิบัติจริงนั้นพบว่า การระบาดครั้งใหญ่กลับเกิดจาก 'กลุ่มเซียนมวย' ในสนามมวยลุมพินี ซึ่งจัดศึกเวทีมวยครั้งใหญ่ในวันที่ 6 มี.ค.2563 และ 'กลุ่มผู้เที่ยวผับที่ทองหล่อ' จนเกิดการระบาดเป็นวงกว้างทั้งสิ้น นอกจากนี้ การรับมือของแต่ละจังหวัดที่รัฐบาลกลางปล่อยให้เป็นอำนาจตัดสินใจของผู้ว่าราชการจังหวัด ก็มีหลายแห่งที่สามารถรับมือได้ดีเป็นที่น่ายกย่อง เช่น ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งนำร่องการตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดอย่างเข้มงวดก่อนจังหวัดอื่นๆ และสามารถตรวจพบผู้ที่ติดเชื้อได้ก่อนที่จะเกิดการแพร่กระจาย ซึ่งเป็นเหตุให้กรุงเทพมหานครประกาศมาตรการตามมาในภายหลัง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราที่สั่งปิดสถานบริการต่างๆ รวมถึงวัดหลวงพ่อโสธรที่เจ้าอาวาสวัดยินยอมให้ปิด เพื่อป้องกันการระบาดอย่างทันท่วงที เมื่อทราบว่านายก อบจ. ติดเชื้อ Covid-19 จากสนามมวยลุมพินี


กลับบ้านต่างจังหวัดแล้วเป็นอย่างไร?

สภาพการอยู่อาศัยที่เบาบางในต่างจังหวัด และชุมชนที่รู้จักกันในพื้นที่ ยังช่วยสกัดกั้นผู้ที่มีภาวะเสี่ยง แจ้งเตือนกันภายในชุมชน หมู่บ้าน และยังมีการสื่อสารทั้งในแบบเก่าอย่างหอกระจายเสียงและการสื่อสารแบบใหม่อย่างไลน์กลุ่มชุมชนเพื่อเตือนกัน หรือแม้กระทั่งแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าตรวจและกักกันอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าจะมีกลุ่มบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามแนวคำแนะนำของแพทย์อยู่บ้างให้เป็นข่าว และเป็นที่ครหาด่าทอของโซเชียล แต่การที่เกิดเป็นข่าวขึ้นแสดงว่ามีผู้คอยจับตามอง แจ้งเตือน และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงกดดันให้กลุ่มผู้ที่กลับมาจากกรุงเทพมหานครหรือกลุ่มเสี่ยงให้ระมัดระวังรักษาตัวเอง

สารของผู้นำหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน นายกฯ อบต. หรือผู้ใหญ่บ้านที่ประกาศส่งต่อกันในหมู่ชาวบ้าน กลุ่มโซเชียลท้องถิ่น ยังสามารถสร้างความอุ่นใจให้มากกว่าแถลงของผู้มีอำนาจทางโทรทัศน์ เพราะแสดงถึงความห่วงใยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ คลายความกังวลใจ และให้คำมั่นว่าเพียงแค่ประชาชนร่วมมือตามคำสั่งของภาครัฐ เจ้าหน้าที่ข้าราขการจะมุ่งมั่นปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย ดังเช่นประกาศของจังหวัดบุรีรัมย์ อุทัยธานี อุดรธานี ขอนแก่น ลำปาง ฯลฯ

90811938_1112433639135073_1847977127270416384_n.jpg

และวันที่ 24 มี.ค.2563 ซึ่งกลุ่มผู้ใช้แรงงานกลับมาจากต่างประเทศได้พ้นระยะเวลากักตัวแล้ว ยังไม่พบว่ากลุ่มแรงงานเหล่านั้นติดเชื้อ Covid-19 หรือแพร่ระบาดให้เกิดปัญหา ซึ่งกรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในแต่ละจังหวัดที่สามารถควบคุมกลุ่มผู้มีความเสี่ยงในการติดโรคระบาดได้

ขอเพียงแค่หน่วยงานสาธารณสุขส่วนกลาง จัดหาทรัพยากรให้แก่โรงพยาบาลและอนามัยท้องถิ่น อสม. ทั้งหลาย มีหน้ากากอนามัย มีชุดกันเชื้อโรค มีอุปกรณ์ใช้อย่างทันท่วงที ไม่ต้องกังวลถึงความขาดแคลน ไม่ใช่ว่าแม้แต่จะขอบริจาคก็ถูกปิดปากไม่ให้เสียหน้า แนะนำแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจน ไม่กลับไปกลับมาสับสน ศักยภาพทางสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็ง และในต่างจังหวัดนั้นยังมีอากาศปลอดโปร่งเป็นส่วนมาก (อาจจะยกเว้นทางภาคเหนือในช่วงนี้ที่ประสบกับมลภาวะ PM2.5) อากาศร้อนและแสงแดดแรง จะช่วยให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้น้อย และทำให้ต่างจังหวัดยังปลอดภัยมากกว่า

แม้ยังมีข้อกังวลว่า จำนวนเตียงและอุปกรณ์การแพทย์ในต่างจังหวัดต่อจำนวนประชากรนั้นน้อยกว่ากรุงเทพมหานครมาก แต่หากภาครัฐสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ต่างๆ ให้อย่างเต็มที่ ชาวต่างจังหวัดจะช่วยผ่อนภาระดูแลและความเดือดร้อนของคนกรุงเทพฯ และประเทศชาติ ไม่ใช่การเป็นภาระอย่างที่ถูกก่นด่ากันมาตลอดเวลา