ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการคัดเลือกตาม ม.36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 128,128 ล้านบาท ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารประกวดราคาใหม่ (TOR) โดยให้พิจารณาซองเทคนิคมาคิดคะแนนรวมกับซองการเงิน โดยกำหนดสัดส่วนการให้คะแนน 30/70 หากรายใดได้คะแนนรวมสูงสุดก็จะได้รับการคัดเลือก เปรียบเทียบวิธีเดิมการพิจารณาจะแยกซองเทคนิค หากผ่านตามเกณฑ์ จึงจะเปิดซองการเงิน โดยผู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดจะได้รับการคัดเลือกนั้น
มติดังกล่าวส่อพิรุธหลายประการ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญ และไม่เคยมีการดำเนินการลักษณะเช่นนี้กับโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนมาก่อน และการคัดเลือกโดยใช้ข้อเสนอทางเทคนิค จะเป็นช่องทางที่ส่อไปในทางไม่สุจริต ไม่เป็นธรรม หรืออาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบริษัทใดบริษัทหนึ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ เพราะจะเป็นการให้น้ำหนักในการใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกได้มากกว่าแบบเดิม ซึ่งจะทำให้ได้ผู้ชนะการประมูลไม่ใช่ผู้ที่ให้ผลตอบแทนต่อรัฐสูงสุดก็ได้ ทำให้มีข่าวเล็ดลอดออกมาในลักษณะมีกลิ่นที่ไม่สู้ดีนักเกิดขึ้น ซึ่งเป็นข่าววงในที่ปิดกันให้แซดอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลง TOR ใหม่หลังจากที่มีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น ถือได้ว่าเป็นการขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 ม.ค. 63 และยังขัดต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ ตาม ม.6(3) และ ม.32 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2562 ประกอบกับข้อ 8(4) ของคณะกรรมการนโยบายร่วมทุนฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชน 2563 อีกด้วย ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า การคัดเลือกตั้งประเมินข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนฯเท่านั้น เพราะข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวกำหนดว่า การพิจารณาจะพิจารณาทีละซองข้อเสนอเป็นลำดับไป โดยไม่ได้กำหนดให้นำคะแนนของซองข้อเสนอด้านเทคนิคมาร่วมพิจารณากับคะแนนของซองข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนเพื่อหาผู้ชนะการประเมินแต่อย่างใด
ดังนั้น การกระทำของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่กล้าเปลี่ยนแปลง TOR หลังจากมีการขายซองประกวดราคาไปแล้วนั้น น่าจะเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจเข้าข่ายความผิดหลายประการที่ส่อไปในทางที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการดำเนินการสืบสวน สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเป็นคดีพิเศษ เพื่อสอบสวนบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ที่ส่อแสดงความพิรุธออกมาให้เห็นอย่างโจ่งครึ่ม และไม่เคยมีปรากฏในลักษณะนี้มาก่อน สมาคมฯ จึงจะนำความไปร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกฯที่กล้าเปลี่ยน TOR รถไฟฟ้าสายสีส้มดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 28 ก.ย. 2563 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน DSI ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ หลักสี่ กทม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :