ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข เตรียมจัดบริการเชิงรุกส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ด้วยการตรวจหาการติดเชื้อซิฟิลิส ผลักดันการตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยากและรับรองว่าเป็นโรค ช่วยเพิ่มการเกิดของประชากร

สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี โดย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย และผู้บริหารจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แรงงาน ศึกษาธิการ การอุดมศึกษาฯ มหาดไทย ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุม 

สาธิต ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจาก 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณากลไกการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นกลไกหลัก

โดยได้ทบทวนองค์ประกอบคณะอนุกรรมการ รวมถึงการพิจารณากรอบการประเมินผลนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ ระยะครึ่งแผน ซึ่งได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำผลมาใช้กำหนดทิศทางการดำเนินงานในรอบครึ่งแผนหลัง (พ.ศ. 2565 - 2569)

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย 

ข้อเสนอที่ 1 การเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองสุขภาพก่อนมีบุตรให้ประชาชนทุกสิทธิ โดยเพิ่มการตรวจคัดกรองการติดเชื้อซิฟิลิส (VDRL) ให้กับคู่รักที่วางแผนมีบุตร หรือตามพฤติกรรมเสี่ยงและดุลพินิจของแพทย์ เนื่องจากซิฟิลิสมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 0.04% ในปี 2555 เป็น 0.41% ในปี 2562 แม่ที่ติดเชื้อซิฟิลิสสามารถแพร่เชื้อสู่ลูก โดยพบว่า ในปี 2562 มีเด็กป่วยด้วยโรคซิฟิลิสตั้งแต่กำเนิด 509 ราย ทำให้เด็กเติบโตช้า พิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนดหรือเสียชีวิต ซึ่งการตรวจเมื่อตั้งครรภ์จะช้าเกินไป และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่าการคัดกรองก่อนตั้งครรภ์

ข้อเสนอที่ 2 จากการศึกษาอัตราการเกิดของประชาชนกรไทยพบว่าลดลงจาก 766,370 คน ในปี 2553 เหลือ 618,193 คน ในปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้คือปีละ 700,000 คน เนื่องจากทัศนคติการมีบุตรเปลี่ยนไปและส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะการณ์มีบุตรยาก

ดังนั้นเพื่อให้มีการเกิดเพิ่มมากขึ้นจึงได้ผลักดันให้ภาวะมีบุตรยากให้เป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ควรได้รับการรับรองว่าเป็นโรคและมีสิทธิในการลาป่วยเพื่อเข้าถึงการรักษา รวมถึงควรให้สิทธิการตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก หากพบนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น เป็นอีกแนวทางที่จะช่วยเพิ่มการเกิดของประชากร โดยจะมีการพิจารณารายละเอียดรูปแบบและสิทธิอีกครั้ง คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนสูงสุด โดยให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการ และให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ พิจารณาดำเนินการ เพื่อให้บรรลุตามข้อเสนอแนะต่อไป